คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเงินทุนเป็นปัจจัยสำคัญมากในการเริ่มต้นและขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเริ่มดำเนินกิจการ (Startup) รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่หลายครั้งผู้ประกอบการมีแนวคิดริเริ่มที่ดี มีโอกาสพัฒนาไปสู่ธุรกิจที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เนื่องจากถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูง ทั้งจากการเป็นธุรกิจใหม่ หรือเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่มีอายุน้อย ทำให้ไม่มีประวัติการดำเนินกิจการที่เพียงพอและมักถูกตัดสินว่าขาดประสบการณ์ รวมถึงธุรกิจบางประเภท อาทิ ธุรกิจซอฟต์แวร์ ที่มักมีข้อจำกัดในการขอสินเชื่อ เนื่องจากลักษณะธุรกิจไม่มีสินทรัพย์ที่จับต้องได้มาใช้เป็นหลักประกัน Share โลกเศรษฐกิจฉบับนี้จะขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักกับ Venture Capital (VC) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์ธุรกิจ Startup ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
Venture Capital หรือธุรกิจเงินร่วมลงทุน หมายถึง ธุรกิจที่ระดมเงินทุนจากแหล่งต่างๆ อาทิ นักลงทุน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสถาบันการเงิน เป็นต้น เพื่อนำไปลงทุนในลักษณะการร่วมลงทุนในกิจการที่มีศักยภาพในการเติบโต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ Startup และ SMEs ที่มักไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดย VC มีความเป็นเจ้าของหรือถือครองหุ้นในบริษัท มีกำหนดระยะเวลาและสัดส่วนการเข้าร่วมลงทุนตามนโยบายของผู้ลงทุนแต่ละราย และเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้ผู้ร่วมลงทุนก็จะถอนตัวออกจากกิจการ โดย VC จะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลหรือผลประโยชน์จากการโอนหุ้นตามที่ระบุในสัญญาร่วมทุน โดยเฉพาะผลตอบแทนจากการขายหุ้นที่ได้ร่วมลงทุนหากบริษัทที่ร่วมลงทุนเติบโตจนสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ หรือสามารถขายหุ้นให้กับบริษัทที่ใหญ่กว่าได้ ทั้งนี้ การระดมทุนผ่าน VC เป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศและได้สร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายราย
ข้อดีของการระดมทุนผ่าน VC คือ การได้รับอนุมัติเงินลงทุนค่อนข้างผ่อนคลายกว่าสถาบันการเงิน เพราะเน้นพิจารณาจากโอกาสเติบโตของธุรกิจ แผนการดำเนินธุรกิจ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความสามารถของผู้บริหารกิจการมากกว่าสินทรัพย์หรือหลักประกัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งระดมเงินทุนที่ปลอดภาระการจ่ายคืนดอกเบี้ย ซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อภาคธนาคาร นอกจากเงินทุนแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุนจะมีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ แผนการทำตลาด และบางครั้งจะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงช่วยแนะนำเครือข่ายสายสัมพันธ์ในธุรกิจ ซึ่งมีส่วนทำให้การร่วมลงทุนประสบผลสำเร็จอีกด้วย อย่างไรก็ตามในบางกรณีผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุนอาจมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของบริษัท เช่น การดำรงตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทการอนุมัติการใช้จ่ายเงินของบริษัท หรืออาจครอบคลุมถึงเรื่องเงินเดือนและการจ้างพนักงาน เป็นต้น ซึ่งเป็นข้อเสียของการระดมเงินทุนผ่าน VC ที่ลดอำนาจในการตัดสินใจของเจ้าของกิจการเดิม รวมทั้งทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียความเป็นเจ้าของกิจการไปบางส่วนจากจำนวนหุ้นที่ลดลง จึงเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการควรพิจารณาประกอบการตัดสินใจเลือกแหล่งเงินทุนด้วย
ปัจจุบันมีตัวอย่างธุรกิจ Startup ในไทยที่ประสบความสำเร็จจากการระดมเงินทุนผ่าน VC เช่น tarad.com เว็บไซต์จำหน่ายสินค้าออนไลน์ภายใต้การระดมทุนและความช่วยเหลือทางธุรกิจจาก Rakuten บริษัท E-Commerce แนวหน้าของญี่ปุ่น และ Ookbee ผู้พัฒนา Application E-book ที่เกิดขึ้นในช่วงการพัฒนาแท็บเล็ต จากการร่วมลงทุนของ Intouch Holdings Plc. ที่ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลด Application กว่า 6.5 ล้านครั้ง จำนวนสมาชิกกว่า 5.5 ล้านคน รวมถึงมีแผนที่จะพัฒนา Application เจาะประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มเติมอีกด้วย
ทั้งนี้ สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจของไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มเอื้ออำนวยให้เกิดธุรกิจใหม่และผู้ประกอบการรุ่นใหม่มากขึ้น ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก การส่งเสริมเศรษฐกิจนวัตกรรม (Innovative Economy) ที่ใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนนโยบายสนับสนุนการเติบโตของ SMEs ของภาครัฐ ล้วนส่งผลให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจและความต้องการเงินลงทุนเพิ่มขึ้นตาม ทั้งนี้
ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- เว็บไซต์ของสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Thai Venture Capital Association) ที่ www.venturecapital.or.th
- เว็บไซต์ของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุนของต่างประเทศที่สนใจลงทุนในไทย อาทิ Singapore Venture Capital & Private Equity Association (SVCA) ที่ www.svca.org.sg, Korea Venture Capital Association (KVCA) ที่ www.kvca.or.kr และ Japan Venture Capital Association (JVCA) ที่ www.jvca.jp เป็นต้น
- เว็บไซต์ของผู้ประกอบการธุรกิจเงินร่วมลงทุนที่มีสำนักงานในไทย อาทิ Inspire Ventures ที่ www.inspireventures.com, Change Ventures ที่ www.changeventures.asia และ Galaxy Ventures ที่ www.galaxyventures.co.th เป็นต้น
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2558--