รู้ลึก AEC: สำรวจโอกาสธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในฟิลิปปินส์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 2, 2015 14:12 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ฟิลิปปินส์เป็นตลาดที่มีศักยภาพของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากอยู่ในช่วงเร่งพัฒนาประเทศ ทำให้มีโครงการก่อสร้างและปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่จำนวนมากตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ตลอดจนการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้มีโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยผุดขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรฟิลิปปินส์ที่มีจำนวนกว่า 100 ล้านคน มากเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย อีกทั้งการแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวยังไม่รุนแรงนัก จึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดบริการรับเหมาก่อสร้างในฟิลิปปินส์

ปัจจัยสนับสนุนธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในฟิลิปปินส์
  • เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง The Economist Intelligence Unit (EIU) คาดว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัวเฉลี่ยกว่าร้อยละ 6 ต่อปีในช่วงปี 2558-2562 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเกื้อหนุนการขยายตัวของภาคก่อสร้าง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการลงทุนในโครงการก่อสร้างต่างๆ ทั้งอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ โครงข่ายถนน ท่าเรือ และสนามบิน เป็นต้น อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากเงินส่งกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศสูงถึง 24.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 (คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 8.5 ของ GDP) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นอุปสงค์ของที่พักอาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เพิ่มขึ้นตาม
  • ระบบโครงสร้างพื้นฐานของฟิลิปปินส์ยังต้องการการพัฒนาอีกมาก สะท้อนได้จากดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index : LPI) ของธนาคารโลกในปี 2557 ฟิลิปปินส์อยู่อันดับที่ 57 ของโลก (ไทยอยู่อันดับที่ 35) จากการจัดอันดับทั้งหมด 160 ประเทศ หรืออยู่อันดับที่ 6 ของอาเซียน รั้งท้ายประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม
ทุกประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย (บรูไนไม่มีการจัดอันดับ) รวมทั้งเวียดนาม ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียนใหม่ หรือ CLMV ส่งผลให้รัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมลงทุนในรูปแบบโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) เพื่อช่วยลดภาระด้านงบประมาณของรัฐบาล
  • รัฐบาลผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนให้เอื้อต่อบริษัทรับเหมาก่อสร้างของต่างชาติมากขึ้น โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างของต่างชาติสามารถรับงานภาครัฐได้เองทั้งหมดจากเดิมที่จำกัดให้บริษัทที่รับงานก่อสร้างหรือปรับปรุงโครงการก่อสร้างของภาครัฐมีบริษัทต่างชาติถือครองหุ้น (Equity Ownership) ได้ไม่เกินร้อยละ 25 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฟิลิปปินส์กำหนดให้บริษัทต่างชาติที่จะได้รับสิทธิ์ดังกล่าวต้องจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างภายใต้ใบอนุญาตใหม่เรียกว่า “Quadruple A” หรือ “AAAA” ซึ่งกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำไว้ที่ 1 พันล้านเปโซ (ราว 22.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
โอกาสของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในฟิลิปปินส์

Philippines Statistics Authority (PSA) รายงานว่า ในปี 2557 ได้อนุมัติโครงการก่อสร้างจำนวน 126,875 โครงการมูลค่า 366.6 พันล้านเปโซ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยว ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 PSA อนุมัติโครงการก่อสร้างจำนวน 29,688 โครงการ มูลค่า 79.2 พันล้านเปโซ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนภาคก่อสร้างของฟิลิปปินส์ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการลงทุนในโครงการก่อสร้างทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้ Colliers International บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ คาดว่า ภายในปี 2559-2560 จะมีโครงการก่อสร้าง คอนโดมิเนียมราว 25,000 ยูนิตในย่านธุรกิจของกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ราว 58,000 ยูนิต ในปัจจุบัน เพื่อตอบสนองความต้องการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ยังมีโครงการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานจำนวน 25 โครงการ มูลค่ากว่า 800 พันล้านเปโซ (ประมาณ 17.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งประกาศให้นักลงทุนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP โดยโครงการที่น่าสนใจมีดังนี้

การขยายตัวของภาคก่อสร้างและการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลฟิลิปปินส์นับเป็นโอกาสของธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้าง ทั้งที่เข้าไปประมูลงานเพื่อดำเนินการเองและรับเหมาช่วง (Sub-contract) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพสูงจากเทคนิคและความชำนาญทางวิศวกรรม ประกอบกับไทยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมก่อสร้างในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเป็นผู้ผลิตหรือส่งออกวัสดุก่อสร้าง อาทิ ปูนซีเมนต์ และเครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้าไปฟิลิปปินส์ ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจบริการออกแบบและตกแต่งภายในอาคาร และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการขยายตลาดเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งภายใน เพื่อรองรับโครงการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ล่าสุดบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กำลังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบและคอนโดมิเนียมระดับกลาง-ล่างราคาประมาณ 1-2 ล้านบาทในฟิลิปปินส์ โดยเบื้องต้นจะเน้นทำเลในกรุงมะนิลา หลังจากเมื่อปี 2556 ได้ลงทุนซื้อต่อกิจการสำนักงานให้เช่าในกรุงมะนิลาขนาด 2,000 ตารางเมตร มูลค่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถเก็บค่าเช่าได้เฉลี่ยปีละประมาณ 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การเข้าไปลงทุนในฟิลิปปินส์ควรศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นระบบภาษี ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม กฎหมายแรงงาน และกฎระเบียบการนำเข้าแรงงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันบางพื้นที่ เช่น บนเกาะ Mindanao ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ยังมีปัญหาความไม่สงบจากกลุ่มกบฏ Moro Islamic Liberation Front (MILF) ที่ยังมีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แม้ว่า MILF จะลงนามข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลฟิลิปปินส์แล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2557 แต่ยังมีเหตุปะทะกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มกบฏอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการควรนำมาพิจารณาถึงทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมของโครงการลงทุนด้วย

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ