นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างไม่เสื่อมคลาย และมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอนาคต กาแฟจึงเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีความสำคัญต่อการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศมายาวนาน โดยประเทศกำลังพัฒนา อาทิ บราซิล และเวียดนาม เป็นผู้ผลิตกาแฟรายสำคัญของโลก ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น เป็นผู้บริโภคหลัก นอกจากกาแฟจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศซึ่งมีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของประเทศนั้นๆ แล้ว ยังก่อให้เกิดธุรกิจอีกมากที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า โรงคั่วกาแฟ และร้านกาแฟในอีกหลายๆ ประเทศ ปัจจุบันอุตสาหกรรมกาแฟและรสนิยมของผู้บริโภคกาแฟมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของกาแฟอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ มีดังนี้
ก่อนจะสำรวจแนวโน้มตลาดกาแฟและพฤติกรรมผู้บริโภคกาแฟ ควรทำความเข้าใจโครงสร้างอุตสาหกรรมกาแฟในเบื้องต้น โดยเฉพาะตลาดการค้าระหว่างประเทศ ดังนี้
- ประเภทของเมล็ดกาแฟ เมล็ดกาแฟที่ทำการค้ากันระหว่างประเทศเป็นเมล็ดกาแฟดิบ (Green Coffee Bean) หรืออาจเรียกว่า “สารกาแฟ” เมล็ดกาแฟดิบดังกล่าวถูกแปรรูปขั้นต้น (นำเปลือกชั้นนอกออกและทำให้แห้ง) จากแหล่งเพาะปลูก และมีการคัดเกรดกันตามขนาดและความสมบูรณ์ของเมล็ด โดยสายพันธุ์หลักของเมล็ดกาแฟ ได้แก่ อาราบิก้า และโรบัสต้า ซึ่งความแตกต่างทั่วไประหว่างทั้งสองสายพันธุ์ คือ อาราบิก้าเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกบนที่สูง มีความทนทานต่อโรคและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้น้อย เมล็ดกาแฟมีกลิ่นหอม เหมาะกับการทำกาแฟร้อน ขณะที่โรบัสต้าเป็นสายพันธุ์ที่ปลูกได้ในที่ราบ มีความทนทานต่อโรคและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ค่อนข้างมาก แต่เมล็ดกาแฟมีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นหอมน้อยกว่าพันธุ์อาราบิก้า เหมาะกับการทำเป็นกาแฟผงสำเร็จรูปและผสมกับกาแฟพันธุ์อาราบิก้าเพื่อทำเป็นกาแฟเย็น
- ประเทศผู้ผลิตกาแฟรายสำคัญ หากพิจารณาด้านปริมาณผลผลิตกาแฟ พบว่าบราซิลเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟ อันดับ 1 ของโลก ด้วยปริมาณผลผลิตกาแฟราว 45 ล้านกระสอบต่อปี โดยราวร้อยละ 70 ของผลผลิตเป็นกาแฟอาราบิก้า ตามมาด้วยเวียดนาม ซึ่งร้อยละ 95 ของผลผลิตเป็นกาแฟโรบัสต้า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาที่ความมีชื่อเสียงของกาแฟ พบว่าหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย เอธิโอเปีย เยเมน และเคนยา แม้มีปริมาณผลผลิตน้อยกว่าประเทศผู้ผลิตหลักอย่างบราซิล แต่ก็ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
- ประเทศผู้บริโภคกาแฟรายสำคัญ กลุ่มประเทศผู้บริโภคกาแฟรายสำคัญของโลกในแง่ปริมาณการบริโภครวม ได้แก่ EU สหรัฐฯ และบราซิล ตามลำดับ แต่หากพิจารณาที่ปริมาณการบริโภคกาแฟต่อจำนวนประชากรพบว่าฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีการบริโภคกาแฟสูงสุดในโลกด้วยปริมาณปีละ 9.6 กิโลกรัมต่อคน หรือราว 2.6 แก้วต่อวัน ตามมาด้วยนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สโลเวเนีย และออสเตรีย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาที่ราคาขายปลีกกาแฟต่อแก้วพบว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีราคาจำหน่ายกาแฟต่อแก้วสูงที่สุด ตามมาด้วยอิตาลี และโปรตุเกส ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้ยินดีที่จะจ่ายค่ากาแฟสูงกว่าประเทศอื่น
- การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนากระตุ้นความต้องการบริโภคกาแฟโรบัสต้า สภาพการทำงานที่เร่งรีบและเคร่งเครียดมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ทำให้กาแฟกลายเป็นเสมือนเครื่องดื่มที่คนทำงานนิยมดื่มเพื่อช่วยกระตุ้นร่างกายให้กระปรี้กระเปร่าและมีความพร้อมต่อการทำงานประจำวัน โดยผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาที่ส่วนใหญ่มีรายได้น้อยถึงปานกลางนิยมบริโภคกาแฟสำเร็จรูปที่มีราคาถูกและใช้เวลาชงได้รวดเร็ว ซึ่งกาแฟสำเร็จรูปส่วนใหญ่ผลิตจากกาแฟโรบัสต้า ทำให้ความต้องการกาแฟโรบัสต้าถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยจากประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก
- ความสำเร็จของตลาดเครื่องชงกาแฟประเภท Capsule ช่วยกระตุ้นความต้องการกาแฟอาราบิก้าในประเทศพัฒนาแล้ว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดกาแฟประเภท Capsule ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยบริษัท Nestle ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจำหน่ายเครื่องชงกาแฟและกาแฟประเภท Capsule ภายใต้แบรนด์ Nespresso มียอดจำหน่ายในกลุ่มประเทศแถบยุโรปตะวันตก เพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปริมาณการบริโภคกาแฟโดยรวมของประเทศดังกล่าวค่อนข้างทรงตัว แสดงให้เห็นว่ายอดจำหน่ายกาแฟประเภท Capsule มีส่วนช่วยพยุงความต้องการบริโภคกาแฟของประเทศแถบยุโรปตะวันตก ทั้งนี้ เครื่องชงกาแฟประเภท Capsule ถือเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์อย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการทำให้ผู้บริโภคสามารถชงกาแฟที่มีรสชาติใกล้เคียงกับเครื่องชงกาแฟขนาดใหญ่ตามร้านกาแฟได้ง่ายภายในบ้าน โดย Capsule กาแฟทำจากพลาสติกหรืออะลูมิเนียม บรรจุกาแฟปริมาณพอดีสำหรับ 1 ช็อตกาแฟ โดยกาแฟที่ใช้เป็นกาแฟอาราบิก้าชั้นดีจากประเทศต่างๆ ขณะที่เครื่องชงกาแฟประเภท Capsule ก็มีราคาถูกกว่าเครื่องชงกาแฟแบบปกติ ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยินดีที่จะซื้อมาใช้
- แนวโน้มราคากาแฟโลก ภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ และเงินเรียลของบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตกาแฟอันดับ 1 ของโลกอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคากาแฟอาราบิก้าและโรบัสต้าเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 อยู่ที่ 169 และ 99 เซนต์ต่อปอนด์ ลดลงร้อยละ 12 และร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาที่ลดลงดังกล่าวสวนทางกับภาวะอุปสงค์และอุปทาน ซึ่ง The Economist Intelligence Unit (EIU) คาดว่า ความต้องการบริโภคกาแฟในปีการผลิต 2557/58 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ขณะที่อุปทานกาแฟมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 3.8
ปัจจุบันแนวโน้มผู้บริโภคกาแฟสมัยใหม่มีความพิถีพิถันมากขึ้นในการบริโภคกาแฟ ทั้งนี้ กระแสการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในตลาดกาแฟโลกในปัจจุบัน มีดังนี้
- กาแฟที่ใช้ผลิตภัณฑ์อื่นเป็นส่วนผสมแทนนมวัว ผู้บริโภคกาแฟที่แพ้นมวัว รวมถึงกลุ่มที่ไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวต้องการเมนูกาแฟที่ใช้ผลิตภัณฑ์อื่นเป็นส่วนผสมแทนนมวัว ซึ่งที่ผ่านมามักใช้นมถั่วเหลืองเป็นส่วนผสมแทน แต่ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จากพืชอื่นที่สามารถใช้ทดแทนได้ อาทิ นมมะพร้าว (Coconut Milk) และนมอัลมอนด์ (Almond Milk) ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ชงกาแฟและร้านกาแฟสามารถคิดค้นเมนูใหม่เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคได้มากขึ้น
- ร้านกาแฟแบบ Drive-Thru ร้านกาแฟระดับโลกอย่าง Starbucks เน้นเปิดสาขาร้านกาแฟแบบ Drive-Thru มากขึ้นในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศในเอเชียอย่างมาเลเซียและไทย เนื่องจากพบว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคส่วนหนึ่งเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวและต้องการความสะดวกรวดเร็วในการซื้อกาแฟ ทำให้สาขาร้านกาแฟแบบ Drive-Thru มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
- กาแฟคุณภาพ (Specialty Coffee) จากแหล่งเพาะปลูกต่างๆ ทั่วโลก ผู้บริโภคยุคใหม่มีความรู้เกี่ยวกับกาแฟเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้มีความพิถีพิถันในการเลือกกาแฟทั้งประเภทและแหล่งเพาะปลูก รวมถึงแสวงหากาแฟรสชาติใหม่ๆ มากขึ้น ร้านกาแฟสมัยใหม่จึงสรรหากาแฟจากแหล่งเพาะปลูกที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้ กาแฟจากแหล่งเพาะปลูกที่มีชื่อเสียงจะมีราคาสูงกว่ากาแฟโดยทั่วไป เพราะนอกจากรสชาติของกาแฟจะขึ้นกับสายพันธุ์ที่เพาะปลูกแล้ว ยังขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของดินและภูมิอากาศของแหล่งเพาะปลูกด้วย ทำให้กาแฟพันธุ์เดียวกัน แต่เพาะปลูกในพื้นที่ต่างกัน ให้รสชาติที่ต่างกัน นอกจากนี้ วิธีการเก็บเกี่ยวและขั้นตอนการแปรรูปเบื้องต้นแต่ละแบบก็ให้กาแฟรสชาติแตกต่างกัน ดังนั้น หากสังเกตสลากบรรจุภัณฑ์กาแฟสมัยใหม่ จะระบุทั้งชื่อพันธุ์กาแฟ ประเทศเพาะปลูก แหล่งเพาะปลูก และวิธีการแปรรูปขั้นต้น รวมไปถึงรสชาติที่ได้จากกาแฟดังกล่าว
สำหรับโอกาสของการส่งออกกาแฟของไทย อาจกล่าวได้ว่ายากต่อการแข่งขันในเชิงปริมาณ เนื่องจากไทยมีปริมาณผลผลิตเพียงราวร้อยละ 0.6 ของปริมาณผลผลิตกาแฟรวมของโลก อย่างไรก็ตาม ในเชิงคุณภาพ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟของไทย และผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจกาแฟของไทย อาทิ โรงคั่ว และนักชงกาแฟ ต่างมีความรู้เพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน ทำให้เกิดการพัฒนากาแฟคุณภาพจากแหล่งเพาะปลูกในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งกาแฟจากหลายแหล่งเพาะปลูกของไทยก็เคยได้รางวัลประกวดระดับนานาชาติมาแล้ว สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคกาแฟยุคใหม่ของโลกที่ต้องการทดลองกาแฟคุณภาพจากหลากหลายแหล่งเพาะปลูกทั่วโลก จึงถือเป็นโอกาสส่งออกกาแฟของไทยที่ไม่ได้เน้นปริมาณ แต่เน้นที่คุณภาพเป็นหลัก
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2558--