อย่างไรก็ตาม เมื่อเอ่ยถึงสินค้าสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิม สิ่งแรกที่ทุกคนจะนึกถึงคืออาหารฮาลาล แต่โอกาสในตลาดสำหรับผู้บริโภคชาวมุสลิมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสินค้า อาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าหรือบริการใดๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลาม “เก็บตกจากต่างแดน” ฉบับนี้ จึงขอเสนอตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการของสินค้าสำหรับชาวมุสลิมในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่น และความงาม ซึ่งอาจช่วยจุดประกายให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นโอกาสหรือช่องทางในการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับตลาดดังกล่าวต่อไป
กระแสรักสุขภาพและความนิยมในการออกกำลังกายที่แพร่หลายไปทั่วโลก และการที่ผู้ผลิตเสื้อผ้าชุดกีฬาแบรนด์ต่างๆ หันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับแฟชั่น ส่งผลให้ตลาดเสื้อผ้าชุดกีฬาเติบโตขึ้นมาก สังเกตจากอัตราขยายตัวของมูลค่าตลาดเสื้อผ้าชุดกีฬาของโลกที่ขยายตัวถึงเกือบร้อยละ 7 ในปี 2557 สูงกว่าอัตราขยายตัวของตลาดเครื่องนุ่งห่มที่ร้อยละ 4 ในปีเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาเสื้อผ้าชุดกีฬาเป็นตลาดของผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ แต่ในระยะหลังเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าได้หันมาสนใจขยายฐานลูกค้าที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น จึงออกผลิตภัณฑ์ทั้งชุดกีฬาและชุดที่มีกลิ่นอายของชุดกีฬา (Sports-inspired Apparel) สำหรับผู้หญิงมากขึ้น อาทิ Nike ร่วมมือกับแบรนด์ Sacai ของญี่ปุ่น ออก Collection ชุดกีฬาสำหรับผู้หญิง และเปิดสาขาใหม่สำหรับจำหน่ายชุดกีฬาสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะในลอนดอน แคลิฟอร์เนีย และเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งออกแคมเปญ Better For It ในเดือนเมษายน 2558 เพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงหันมาออกกำลังกายมากขึ้น และเชื่อว่าสินค้าในกลุ่มผู้หญิงจะช่วยเพิ่มยอดขายให้ Nike ได้อีก 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2560
แม้กระแสนิยมการออกกำลังกายจะขยายไปทั่วโลก แต่ที่ผ่านมาผู้หญิงชาวมุสลิมมักมีข้อจำกัดในการออกกำลังกายและเล่นกีฬา ทั้งจากวิถีปฏิบัติของชาวมุสลิมเอง เช่น การห้ามมิให้ชาย-หญิงถูกเนื้อต้องตัวกัน จนบางครั้งทำให้ชาวมุสลิมไม่สะดวกใจที่จะออกกำลังกายในที่สาธารณะที่มีผู้ชาย-ผู้หญิงปะปนกันหรือในบางประเทศมุสลิมกำหนดให้การออกกำลังกาย ลักษณะดังกล่าวเป็นข้อห้าม และจากข้อติดขัดของกติกากีฬาในระดับสากลที่กำหนดกฎการแต่งกายของนักกีฬาไว้ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิม เช่น กีฬาวอลเลย์บอลสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (Federation Internationale de Volleyball : FIVB) กำหนดให้นักกีฬาต้องสวมกางเกงขาสั้น กีฬาว่ายน้ำ สหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (Federation Internationale de Natation : FINA) กำหนดให้ชุดนักกีฬาว่ายน้ำหญิงต้องไม่ปิดคอ ไหล่ หรือยาวกว่าหัวเข่า และการบันทึกสถิติในการแข่งขันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนักกีฬาสวมชุดว่ายน้ำที่ถูกต้องตามกฎของ FINA เท่านั้น ซึ่งขัดกับข้อปฏิบัติของศาสนาอิสลามที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องปกปิดร่างกายทั้งหมดนอกจากหน้าและมือ เมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ชายคนอื่นที่ไม่ใช่บุคคลในครอบครัว และต้องสวมชุดซึ่งไม่รัดรูปและไม่บางจนทำให้เห็นถึงรูปร่างของผู้สวมใส่ ข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผู้หญิงชาวมุสลิมมีโอกาสจำกัดในการเล่นกีฬา
อย่างไรก็ตาม พัฒนาการการออกแบบชุดกีฬาสำหรับผู้หญิงได้ก้าวไปสู่ตลาดชุดกีฬาที่เหมาะสำหรับผู้หญิงชาวมุสลิม มีตัวอย่างของบริษัท Ahiida ในประเทศออสเตรเลีย ที่เริ่มผลิตชุดกีฬาสำหรับผู้หญิงชาวมุสลิม โดย Aheda Zanetti ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Ahiida ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่เห็นหลานสาวของตนเล่นกีฬา Netball (กีฬาคล้ายบาสเกตบอลมีผู้แข่งขันทีมละ 7 คน) โดยสวมฮิญาบซึ่งทำให้เล่นได้ไม่สะดวกนัก จึงมีความคิดจะผลิตชุดกีฬาที่สวมใส่สะดวก เหมาะกับการเล่นกีฬา และไม่ขัดต่อบทบัญญัติของศาสนาอิสลามขึ้นจนต่อมาได้พัฒนามาเป็นชุดว่ายน้ำแบรนด์ “Burqini” ที่ถูกออกแบบมาให้สวมใส่สะดวกเหมาะกับการเล่นกีฬา และเน้นความสุภาพตามหลักของศาสนาอิสลาม โดยชุดดังกล่าวผลิตจากเส้นใย Polyester คุณภาพสูงที่มีน้ำหนักเบาและมีคุณสมบัติป้องกันน้ำซึมผ่าน (Water Repellent) ทำให้ผ้าไม่แนบเนื้อจึงเป็นชุดที่ไม่เปิดเผยหรือเน้นรูปร่างของผู้สวมใส่ นอกจากนี้ บริษัท Ahiida ยังออกแบบฮิญาบแบรนด์ “Hijood” ที่เหมาะกับการแข่งกีฬา โดยออกแบบให้เป็น Hood ที่แนบติดกับใบหน้าและคาง และมีถุงด้านหลังสำหรับรวบผมเก็บให้มิดชิด ซึ่ง Ruqaya Al-Ghasra นักกรีฑาชาวบาห์เรนได้สวม “Hijood” ลงแข่งวิ่ง 200 เมตรหญิงในกีฬาเอเชียนเกมส์และได้รับเหรียญทอง และได้เผยความรู้สึกต่อ “Hijood” ว่าเป็นฮิญาบที่ตอบสนองความต้องการของเธอในการสวมใส่เครื่องแต่งกายที่สุภาพ และขณะเดียวกันยังช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องตัว ทำให้เธอทำผลงานได้ดีขึ้น
นอกจากแฟชั่นเครื่องแต่งกายแล้ว ผู้หญิงชาวมุสลิมก็ให้ความสนใจกับเรื่องความงามและการดูแลร่างกาย เพียงแต่ต้องปฏิบัติตนให้อยู่ในหลักของศาสนาเท่านั้น แนวคิดของ เครื่องสำอางสำหรับชาวมุสลิมจึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องสำอาง สำหรับชาวมุสลิมหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นรองพื้น แป้งปัดแก้ม ลิปสติก ผลิตภัณฑ์ชะลอวัย (Anti-agers) ผลิตภัณฑ์ช่วยให้ผิวขาว (Skin Whitening Products) แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นแบรนด์ท้องถิ่นของแต่ละประเทศ อาทิ Wardah ของอินโดนีเซีย ที่ผลิตเครื่องสำอางสำหรับ การแต่งหน้าและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว IBA Cosmetics ของอินเดีย ที่มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม ใบหน้า ลำตัว รวมถึงน้ำหอม OnePure Beauty จากดูไบ ที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลผิวระดับพรีเมียม และเครื่องสำอางแบรนด์ไทย อย่าง PIMMARA (พิมรา) ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ทั้งในกลุ่มชะลอวัย แก้ปัญหาสิว และผลิตภัณฑ์ช่วยให้ผิวขาว โดยชูจุดเด่นที่การใช้สารสกัดจากพืชธรรมชาติ อาทิ รากชะเอมเทศ ฟัก ข้าว นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ประเภทหนึ่งที่ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดของผู้หญิงชาวมุสลิม นั่นคือ ยาทาเล็บ INGLOT รุ่น O2M จากประเทศโปแลนด์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือล้างออกง่ายและเมื่อทาลงไปแล้วน้ำสามารถซึมผ่านชั้นของสีลงไปที่เล็บได้ เนื่องจากชาวมุสลิมจะต้องทำละหมาดวันละ 5 ครั้ง และผู้ที่จะละหมาดต้องชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนทำละหมาดทุกครั้งซึ่งตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามนั้น ผู้ละหมาดจะต้องล้างมือทั้งสองข้างจนถึงข้อศอกให้สะอาด โดยจำเป็นจะต้องล้างให้ทั่วเส้นขนและผิวหนัง รวมถึงซอกเล็บ หากน้ำไปไม่ถึงส่วนของร่างกายที่ต้องชำระล้างจะถือว่าการชำระล้างนั้นไม่ถูกต้อง ซึ่งการทายาทาเล็บโดยทั่วไปจะมีผลให้เล็บไม่ได้สัมผัสน้ำ (เพราะถูกยาทาเล็บเคลือบอยู่) ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติ ผู้หญิงชาวมุสลิมจึงต้องล้างยาทาเล็บออกให้สะอาดทุกครั้งก่อนทำละหมาดซึ่งไม่สะดวกในทางปฏิบัติ ยาทาเล็บที่น้ำสามารถซึมผ่านได้จึงตอบโจทย์ของผู้หญิงชาวมุสลิมได้เป็นอย่างดี
ที่ผ่านมาทั้งชุดกีฬาและเครื่องสำอางต่างก็เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและสามารถส่งออกไปจำหน่ายในหลายประเทศ โดยเฉพาะเครื่องสำอาง ที่ไทยมีจุดเด่นจากการใช้สมุนไพร และสารสกัดจากธรรมชาติ เพราะนอกจากจะตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวมุสลิมที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้สารสกัดจากสัตว์บางชนิดแล้ว ยังตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมกลุ่มที่นิยมใช้สินค้าอินทรีย์ (Organics) หรือผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
แม้การเข้าสู่ตลาดสินค้าสำหรับชาวมุสลิมจะค่อนข้างยาก เพราะมาตรฐานของแต่ละประเทศแตกต่างกันในรายละเอียด และสินค้าหลายชนิดที่ไม่ใช่อาหารก็ยังขาดหลักปฏิบัติที่ชัดเจนในระดับสากล แต่ตลาดสินค้าสำหรับชาวมุสลิมก็จัดเป็นตลาดศักยภาพที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปฏิบัติและข้อห้ามต่างๆ ของศาสนาอิสลามถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการออกแบบ หรือผลิตสินค้าได้อย่างเหมาะสมและสามารถครองใจผู้บริโภคชาวมุสลิมได้เป็นอย่างดี
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกันยายน 2558--