Share โลกเศรษฐกิจ: เงินหยวนกับการก้าวขึ้นเป็นสกุลเงินหลักของโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 26, 2015 14:55 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนดำเนินนโยบายสนับสนุนเงินหยวนสู่สากล (RMB Internationalization) มาโดยตลอด และพยายามที่จะผลักดันให้เงินหยวนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในตะกร้าเงิน Special Drawing Rights (SDRs) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจของจีนในเวทีโลก เนื่องจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าเงิน SDRs แสดงให้เห็นว่าเงินหยวนได้รับการรับรองจาก IMF ให้มีบทบาทอย่างแท้จริงในเวทีการเงินโลก นั่นหมายถึงการยอมรับให้ใช้เงินหยวนเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศร่วมกับการถือครองทองคำได้ ซึ่งจะทำให้จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่ยกระดับสกุลเงินท้องถิ่นของตนสู่การเป็นสกุลเงินหลักของโลก

สกุลเงิน SDRs กับบทบาทในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ

SDRs เป็นสินทรัพย์ในสกุลเงินสมมติที่กำหนดขึ้นโดย IMF เมื่อปี 2512 ซึ่งจัดสรรให้ประเทศสมาชิก IMF ถือครอง เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งเสริมสภาพคล่องให้เอื้อต่อการขยายตัวของภาคการเงินการธนาคาร โดย SDRs เทียบได้กับสินทรัพย์ประเภททองคำ เงินตราต่างประเทศ และสินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Reserve Position in the Fund) ที่จะสามารถนำออกมาใช้ได้เมื่อประเทศประสบปัญหาขาดดุลการชำระเงิน ทั้งนี้ ตะกร้าเงินที่ใช้คำนวณค่าเงิน SDRs ในช่วงปี 2554-2558 ประกอบด้วยเงิน 4 สกุลหลัก ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 41.9) ยูโร (ร้อยละ 37.4) ปอนด์สเตอร์ลิง (ร้อยละ 11.3) และเยน (ร้อยละ 9.4) โดย IMF จะพิจารณาและทบทวนสกุลเงินและสัดส่วนสกุลเงินในตะกร้าเงิน SDRs ทุก 5 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าสกุลเงินในตะกร้ายังมีบทบาทสำคัญในตลาดเงินและตลาดทุนโลก ซึ่งในปี 2558 จะครบกำหนด 5 ปีที่ IMF ต้องทบทวนองค์ประกอบของตะกร้าเงิน SDRs อีกครั้ง สำหรับค่าเงิน SDRs ที่กำหนดขึ้นเป็นค่าอ้างอิงกับดอลลาร์สหรัฐจะเปลี่ยนแปลงตามภาวะตลาดเงินตราต่างประเทศเป็นรายวัน ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 1.396870 ดอลลาร์สหรัฐต่อ SDR (ข้อมูลจาก IMF ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2558)

หลักเกณฑ์สำคัญที่จีนจะต้องก้าวข้ามเพื่อให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินหลักของโลก

หลักเกณฑ์สำคัญที่ IMF ใช้พิจารณาเลือกสกุลเงินในตะกร้าเงิน SDRs มีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ 1) ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศเจ้าของสกุลเงิน โดยประเทศเจ้าของสกุลเงินนั้นต้องเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก และ 2) ต้องเป็นสกุลเงินที่มีอิสระในการใช้หรือเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี โดยพิจารณาจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนในบัญชีเงินทุน (Capital Account) ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าจีนผ่านเงื่อนไขข้อแรกอย่างไม่มีข้อกังขาด้วยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศปี 2557 ที่สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก อย่างไรก็ตาม IMF เคยปฏิเสธที่จะนำเงินหยวนใส่ตะกร้าเงิน SDRs เมื่อปี 2553 เนื่องจากเงินหยวนไม่ผ่านเกณฑ์อิสระในการใช้ และไม่สามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี ทำให้มีอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนเงินหยวนในตลาดเงินตราต่างประเทศและการใช้เงินหยวนข้ามแดน ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางจีน (The People’s Bank of China : PBOC) ได้พยายามปรับปรุงให้เงินหยวนมีความเสรีมากขึ้น รวมทั้งผ่อนปรนการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้เงินหยวนเป็นที่ยอมรับในระดับสากลผ่านนโยบายและมาตรการทางการเงินต่างๆ ซึ่งสนับสนุนให้เงินหยวนได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ อาทิ การอนุญาตให้ใช้เงินหยวนชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคและเริ่มขยายไปทั่วโลก การจัดตั้งศูนย์การชำระเงินสกุลหยวนนอกประเทศเพิ่มขึ้น การอนุญาตให้สถาบันการเงินต่างชาติออกตราสารหนี้สกุลเงินหยวนในจีน รวมถึงการริเริ่มโครงการการลงทุนหลักทรัพย์ในจีนด้วยเงินหยวนโดยวิสาหกิจต่างชาติที่ได้รับอนุญาต การเปิดช่องทางการลงทุนข้ามเขตแดนในนามบุคคล ตลอดจนการขยายช่วงความเคลื่อนไหว (Band) ค่ากลางของอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงเงินหยวนรายวัน เพื่อให้เงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2558 PBOC ได้เปิดใช้ระบบชำระเงินหยวนข้ามแดนออนไลน์อย่างเป็นทางการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินหยวนข้ามแดน ส่งผลให้การใช้เงินหยวนในต่างประเทศมีความสะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น มาตรการต่างๆ เหล่านี้นับเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปทางการเงินของจีนที่มุ่งหวังจะให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลที่ใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนในตลาดโลกได้มากขึ้น รวมทั้งทำให้เงินหยวนสามารถเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด และสะท้อนภาวะตลาดได้ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณเงินหยวนในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2557 ทะลุระดับ 1 ล้านล้านหยวนจากราว 1 หมื่นล้านหยวนในปี 2553 นอกจากนี้ จากข้อมูลของ Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication (SWIFT) ณ เดือนสิงหาคม 2558 ระบุว่าเงินหยวนแซงหน้าเงินเยนของญี่ปุ่นขยับขึ้นเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการชำระเงินระหว่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร และเงินปอนด์สเตอร์ลิง

ยกระดับเงินหยวนสู่สากล...โอกาสของจีนที่จะแสดงบทบาทในเวทีเศรษฐกิจโลก

IMF ส่งสัญญาณเชิงบวกว่าเงินหยวนมีโอกาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าเงิน SDRs อย่างเร็วที่สุดหลังวันที่ 30 กันยายน 2559 เนื่องจาก IMF ได้ประกาศขยายระยะเวลาการใช้องค์ประกอบตะกร้าเงิน SDRs เดิมออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 จากกำหนดเดิมวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เพื่อให้การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงิน SDRs เป็นไปอย่างราบรื่น และมีเวลาเพียงพอในการปรับตัวกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสกุลเงินในตะกร้าเงิน SDRs สำหรับกรณีของจีนคาดว่าคณะผู้บริหารของ IMF จะประกาศผลการตัดสินใจดังกล่าวภายในเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งหากจีนพลาดโอกาสในการนำเงินหยวนเข้าตะกร้าเงิน SDRs ในครั้งนี้จะต้องรอไปอีก 5 ปีกว่า IMF จะพิจารณาองค์ประกอบตะกร้าเงิน SDRs อีกครั้ง

หากเงินหยวนได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะกร้าเงิน SDRs จะส่งผลให้เงินหยวนมีบทบาทมากขึ้นในตลาดเงินและตลาดทุนโลก ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว ตลอดจนเป็นสกุลเงินทางเลือกให้ประเทศต่างๆ ใช้เป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศ สำหรับผลกระทบต่อไทยค่อนข้างเป็นไปในทิศทางบวก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมักได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากความผันผวนของสกุลเงินหลักของโลกอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโร หากเงินหยวนสามารถเป็นสกุลเงินหลักของโลก จะช่วยกระจายความเสี่ยงด้านการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยจากความผันผวนของเงินสกุลหลักสกุลใดสกุลหนึ่งได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริการทางการเงินที่มีความสัมพันธ์กับเงินหยวน เพื่อเตรียมพร้อมเมื่อเงินหยวนยกระดับขึ้นเป็นสกุลเงินหลักของโลกในอนาคต

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ