รู้ลึก AEC: Yangon Stock Exchange...ตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกของเมียนมา

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 26, 2015 15:20 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน เมียนมาและบรูไนเป็นสองประเทศสุดท้ายที่ยังไม่มีตลาดหลักทรัพย์เป็นของตนเอง โดยเมียนมามีเพียงศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ (Myanmar Securities Exchange Centre : MSEC) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2539 ในเมืองย่างกุ้ง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายหลักทรัพย์และเป็นตัวแทนของธนาคารกลางเมียนมา (Central Bank of Myanmar : CBM) ในการเป็นนายทะเบียนพันธบัตรรัฐบาล ต่อมารัฐบาลเมียนมาเล็งเห็นถึงความสำคัญของกลไกในการระดมทุนให้กับภาคเอกชนจึงได้ออกกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (Securities and Exchange Law : SE Law) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 เพื่อรองรับการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง (Yangon Stock Exchange : YSX) ซึ่งเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล รวมทั้งเป็นช่องทางในการลงทุนและการสร้างงาน ตลอดจนเป็นแหล่งระดมเงินทุนในประเทศ ทั้งนี้ การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่าน Daiwa Institute of Research (DIR) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ Daiwa (Daiwa Securities Group) และตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น (Japan Exchange Group : JPX) ในด้านการบริหารจัดการและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งพร้อมเปิดทำการอย่างเป็นทางการภายในเดือนธันวาคม 2558

รู้จักตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง

ตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Myanmar Economic Bank ธนาคารของรัฐที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในเมียนมา ถือหุ้นในฐานะตัวแทนรัฐบาลเมียนมาร้อยละ 51 และบริษัทญี่ปุ่น 2 แห่ง คือ DIR และ JPX ถือหุ้น ร้อยละ 30.25 และร้อยละ 18.75 ตามลำดับ มีทุนจดทะเบียน 32 พันล้านจ๊าต (ราว 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของเมียนมา (Securities Exchange Commission of Myanmar : SECM) ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ SE Law ทั้งนี้ คณะผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งมาจากตัวแทนผู้ถือหุ้น 3 กลุ่ม ได้แก่ Myanmar Economic Bank จำนวน 3 ราย JPX จำนวน 1 ราย และ DIR จำนวน 1 ราย โดยมี Kanbawza Bank ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนใหญ่ที่สุดและมีสาขามากที่สุดของเมียนมาเป็นตัวแทนให้บริการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Settlement Bank) ของตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง

อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของ SECM

SECM มีหน้าที่และความรับผิดชอบเทียบเท่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของไทย ปัจจุบันประกอบด้วยกรรมการจำนวน 6 รายมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลเมียนมา โดยมีนาย Maung Maung Thein รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของเมียนมาเป็นประธาน ทั้งนี้ ภายใต้ SE Law กำหนดให้ประธานและกรรมการ SECM มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี และมีหน้าที่สำคัญ ดังนี้

  • การออก/เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
  • การอนุญาตให้ซื้อขายหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
  • การกำกับดูแลการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นไปตาม SE Law
  • การอนุมัติการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไป (Initial Public Offering : IPO)
  • การกำหนดบทลงโทษต่อผู้กระทำผิดในธุรกิจหลักทรัพย์
  • การตรวจสอบและสืบหาหลักฐานกรณีที่เข้าข่ายทุจริตการดำเนินงานธุรกิจหลักทรัพย์

การดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ในเมียนมาต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจาก SECM เท่านั้น บริษัทเอกชนไม่สามารถดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ได้เองโดยไม่มีใบอนุญาต ทั้งนี้ การละเมิด SE Law ทุกกรณีถือเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งจะมีบทลงโทษ คือ จำคุก เสียค่าปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ตัวแทนค้าหลักทรัพย์ โบรกเกอร์/บริษัทที่ประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และที่ปรึกษา ซึ่งมีข้อกำหนดเงื่อนไขเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำแตกต่างกันในแต่ละประเภทการให้บริการ โดยใบอนุญาตสำหรับผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์กำหนดให้ต้องมีเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสูงที่สุด เมื่อเทียบกับใบอนุญาตประเภทอื่น เนื่องจากสามารถดำเนินกิจการครอบคลุมการให้บริการทั้ง 4 ประเภท ทั้งนี้ SE Law กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของบริษัทที่ต้องการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ดังนี้

นอกจากนี้ SE Law ยังกำหนดให้บริษัทที่จะขอใบอนุญาตฯ ต้องยื่นเอกสารประกอบการพิจารณาที่สำคัญ ได้แก่ งบการเงินที่ผ่านการรับรองจาก Myanmar Companies Act (MCA) รายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีที่แสดงผลการดำเนินงานทั้งของบริษัทหลักและบริษัทในเครือ (ถ้ามี) และเอกสารแสดงอัตราเงินปันผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2558 ระบุว่ามีบริษัทเอกชนจำนวน 57 แห่งยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ โดยแบ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 20 บริษัท ตัวแทนค้าหลักทรัพย์ 2 บริษัท โบรกเกอร์ 5 บริษัท และที่ปรึกษา 30 บริษัท ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 SECM ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง จำนวน 10 ราย ในจำนวนนี้มีบริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด ของไทย ซึ่งร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง

ในระยะแรกมีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีผลประกอบการแข็งแกร่ง ล่าสุดกระทรวงการคลังของเมียนมาเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งจำนวน 3 แห่งแรก ได้แก่ Asia Green Development Bank (AGD), Myanmar Agribusiness Public Corporation (MAPCO) และ First Myanmar Investment (FMI) นอกจากนี้ FMI ยังเป็นบริษัทแรกที่ได้รับสิทธิ์ในการเสนอขายหุ้น IPO ด้วย ทั้งนี้ SE Law ไม่จำกัดจำนวนการซื้อขายหุ้น แต่การซื้อขายหุ้นที่มีมูลค่าสูงผิดปกติจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียด การทำธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งจะใช้เงินจ๊าต ซึ่งเป็นสกุลเงินท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิ์ให้บริษัทที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งต้องเป็นบริษัทเมียนมาเท่านั้น โดยมีเงื่อนไขเบื้องต้นกำหนดให้มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 500 ล้านจ๊าต (ราว 390,000 ดอลลาร์สหรัฐ) มีจำนวนผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 100 ราย (ไม่จำกัดสัดส่วนการถือหุ้นขั้นต่ำ) และผลประกอบการต้องมีกำไรติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี ขณะที่บริษัทต่างชาติและบริษัทที่มีชาวต่างชาติ ร่วมทุนยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้ง รวมทั้งไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อขายหลักทรัพย์ในระยะแรกเช่นกัน แต่เป็นที่คาดว่าเมื่อตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งมีความพร้อมและแข็งแกร่งมากขึ้น รัฐบาลเมียนมาก็พร้อมจะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งได้

ความร่วมมือกับไทยนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจร่วมกัน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เล็งเห็นความสำคัญของการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งจึงได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) กับธนาคารกลางเมียนมาว่าด้วยความร่วมมือด้านการสนับสนุนการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ของเมียนมา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ตลท. ได้สนับสนุนข้อมูลในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ อาทิ การปฏิบัติการของตลาดหลักทรัพย์ กฎเกณฑ์ ระบบการซื้อขาย และระบบงานหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น รวมทั้งการให้คำแนะนำด้านต่างๆ แก่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การให้ความรู้แก่บุคลากรในตลาดทุนเมียนมา และการร่วมจัดทำแผนพัฒนาความรู้ด้านตลาดทุนแก่นักลงทุน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ของการส่งเสริมให้มีบริษัทหลักทรัพย์ร่วมทุนไทย-เมียนมา นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความร่วมมือด้านตลาดทุนระหว่างไทยและเมียนมา เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน

การเปิดดำเนินการตลาดหลักทรัพย์ย่างกุ้งนับเป็นช่องทางระดมเงินทุนที่สำคัญของเมียนมาในระยะถัดไป รวมทั้งจะมีส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันรัฐบาลเมียนมาต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน รวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย SE Law ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนของเมียนมาให้เติบโตอย่างยั่งยืน ก่อนจะก้าวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของอาเซียนต่อไป

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ