Share โลกเศรษฐกิจ: Cluster...อีกมิติของการส่งเสริมการลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 8, 2015 14:07 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

"คลัสเตอร์" (Cluster) เป็นคำที่ได้ยินบ่อยครั้งขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ และเขตเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ เป็นต้น ปัจจุบันมาตรการด้านคลัสเตอร์ของรัฐบาลยังไม่สรุปเป็นที่แน่ชัดแต่ที่พอจะเห็นเค้าโครงของแนวคิดดังกล่าว นั่นคือการนำเอามิติของคลัสเตอร์มาเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการส่งเสริมการลงทุน ทั้งเพื่อให้เกิดคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมใหม่ๆ หรือการพัฒนาคลัสเตอร์เดิมที่มีอยู่แล้วเพื่อดึงดูดให้มีการลงทุนเพิ่มเติม ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจนโยบายของรัฐบาลได้ดียิ่งขึ้น จึงควรทำ ความเข้าใจกับแนวคิดที่แท้จริงของ "คลัสเตอร์" ว่ามีบทบาทต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างไร

คลัสเตอร์เป็นคำอธิบายปรากฏการณ์และแนวคิดหนึ่งของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่ง professor Michael E. porter เป็นผู้ที่ริเริ่มอธิบายความหมายของ คลัสเตอร์ไว้ตั้งแต่ปี 2541 โดยหมายถึงการที่กลุ่มธุรกิจหรืออุตสาหกรรม รวมถึงสถาบันที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และหน่วยงานภาครัฐ มาดำเนินกิจการอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันเพื่อร่วมมือ เกื้อหนุน และเชื่อมโยงกัน ซึ่งเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่กลุ่มธุรกิจจำนวนมากมารวมตัวและตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กันนั้นก็เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) เช่นเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงวัตถุดิบจากอุตสาหกรรมต้นน้ำ แรงงาน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง บริการสนับสนุน ข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจ และงานศึกษาวิจัยเฉพาะทาง ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรเหล่านี้ร่วมกันภายในคลัสเตอร์ โดยในคลัสเตอร์หนึ่งอาจประกอบด้วยความสัมพันธ์แนวตั้ง (Vertical Linkages) ระหว่างธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำและความสัมพันธ์แนวนอน (Horizontal Linkages) ระหว่างกลุ่มธุรกิจที่มีสินค้า/บริการเกื้อหนุนกัน

ทั้งนี้ ภายใต้แนวคิดของ porter ประโยชน์สำคัญของคลัสเตอร์ต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่

  • การเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity)ผู้ประกอบการภายในคลัสเตอร์สามารถเข้าถึงแรงงานและบุคลากรที่เชี่ยวชาญในสาขาอุตสาหกรรม/ธุรกิจของตนเองได้ง่ายขึ้นจากการมีกลุ่มธุรกิจประเภทเดียวกันอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันอีกทั้งช่วยให้การจัดหาวัตถุดิบทำได้ง่ายและมีความหลากหลายจาก Suppliers ที่มีให้เลือกจำนวนมากและสะดวกต่อ Suppliers ในการให้บริการหลังการขาย นอกจากนี้ คลัสเตอร์ยังได้ประโยชน์จากบริการสนับสนุน อาทิ ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจซ่อมแซมเครื่องจักร และธุรกิจสื่อต่างๆ รวมถึงสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยในพื้นที่ ทั้งนี้ การรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายธุรกิจในคลัสเตอร์ยังก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เทคนิคการผลิตและองค์ความรู้ใหม่ๆซึ่งมีส่วนช่วยให้ผลิตภาพการผลิตของธุรกิจในคลัสเตอร์พัฒนาขึ้นอีกทั้งยังเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ภาครัฐให้ความสำคัญในการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆซึ่งมีส่วนช่วยให้ธุรกิจในคลัสเตอร์ได้เปรียบกว่าธุรกิจนอกคลัสเตอร์
  • การผลักดันให้เกิดนวัตกรรม (lnnovation)การอยู่รวมกันของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมในคลัสเตอร์ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่หรือชิ้นส่วนอุปกรณ์ใหม่จาก Suppliers ที่อยู่ในคลัสเตอร์ได้รวดเร็วกว่าผู้ประกอบการนอกคลัสเตอร์รวมถึงสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเทคนิคใหม่ๆจากการพบปะกันของผู้ประกอบการในเครือข่ายคลัสเตอร์ทำให้การพัฒนานวัตกรรมใหม่ในคลัสเตอร์มีโอกาสเกิดขึ้นได้รวดเร็ว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในคลัสเตอร์มิเพียงร่วมมือกันเท่านั้นแต่ผู้ผลิตสินค้า/บริการประเภทเดียวกันที่มีอยู่มากรายในคลัสเตอร์ยังต้องแข่งขันกันเองทำให้เกิดแรงผลักดันในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อเอาชนะคู่แข่งด้วย
  • การสร้างธุรกิจใหม่ (New Business Formation) ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร หรือพนักงานที่ทำงานในคลัสเตอร์สามารถมองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ หรือช่องว่างทางธุรกิจ ที่ซ่อนอยู่ภายในคลัสเตอร์และจะได้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆในคลัสเตอร์ไม่ว่าจะเป็น Suppliers บุคลากรและบริการต่างๆ ทำให้สามารถจัดตั้งธุรกิจใหม่ได้รวดเร็ว นอกจากนี้ สถาบันการเงินและนักลงทุนมักมีความคุ้นเคยกับธุรกิจในคลัสเตอร์ดีอยู่แล้ว จึงไม่เป็นการยากที่จะให้การสนับสนุนธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ในคลัสเตอร์

ตัวอย่างคลัสเตอร์ของโลกที่สำคัญได้แก่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็น Suppliers ของโตโยต้าส่วนใหญ่เลือกที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานผลิตรถยนต์ของโตโยต้าเพื่อให้สะดวกต่อการจัดหาวัตถุดิบระหว่าง Suppliers ด้วยกันเอง และสะดวกต่อการจัดส่งสินค้าแบบ Just-in-Time ให้กับโตโยต้า ขณะที่ Silicon Valley ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตสินค้าไฮเทคจำนวนมากของสหรัฐฯตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย Stanford เพื่อให้สามารถเข้าถึงงานวิจัยและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆได้ง่ายคล้ายคลึงกับหลายบริษัทที่ตั้งอยู่ใกล้กับ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในเมือง Boston ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันค่าเช่าพื้นที่ใน Silicon Valley ปรับสูงขึ้นอย่างมากและเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าไปมากจนเสมือนว่าสามารถตั้งบริษัทที่ไหนก็ได้ในโลกแต่บริษัทดังกล่าวยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์เพราะได้ประโยชน์จากข้อมูลสำคัญที่กระจายอยู่ในแวดวงธุรกิจซึ่งมักได้มาจากการพบปะพูดคุยกัน ต่างจากข้อมูลข่าวสารทั่วไปที่ปัจจุบันสามารถส่งผ่านกันรวดเร็วด้วยระบบออนไลน์ สำหรับคลัสเตอร์ธุรกิจบริการที่เป็นตัวอย่างสำคัญ คือ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ของ Hollywood ซึ่งหลังจากระบบสตูดิโอภาพยนตร์ขนาดใหญ่ล่มสลายในช่วงกว่า 80 ปีที่ผ่านมาได้มีการแตกกิจการออกเป็นบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยบริษัทดังกล่าวยังคงตั้งกิจการในบริเวณรอบ Hollywood และพึ่งพากันตามความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัทซึ่งมีส่วนช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของตนเองให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเพิ่มขึ้น

สำหรับตัวอย่างคลัสเตอร์ของไทยในปัจจุบันได้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่รวมตัวกันอยู่ในจังหวัดระยอง และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมี Suppliers อยู่รอบบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายสำคัญ อาทิ ฮอนด้าในจังหวัดอยุธยาและโตโยต้าในจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งนี้ การนำแนวคิดคลัสเตอร์มาใช้เป็นนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำแนวคิดคลัสเตอร์มาใช้ในแผนพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของไทยตั้งแต่ราวปี 2548 แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่นิ่งและมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาหลายรัฐบาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทำให้มาตรการรัฐบาลด้านคลัสเตอร์ค่อยๆจางหายไปโดยอาจหลงเหลืออยู่บ้างในกลยุทธ์การดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมก่อนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะนำแนวคิดคลัสเตอร์กลับมาใช้อีกครั้งโดยผนวกเข้ากับนโยบายส่งเสริมการลงทุน และคาดว่าจะมีอิทธิพลค่อนข้างมากต่อรูปแบบในอนาคตของการสนับสนุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการสนับสนุนเฉพาะพื้นที่และกลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงการบูรณาการร่วมกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยเพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ