หากกล่าวถึงเทรนด์อาหารมาแรงในปัจจุบันแล้ว ความนิยมในอาหารที่มีส่วนช่วยดูแลสุขภาพเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจเป็นลำดับต้นๆ โดยตัวอย่างของกระแสดังกล่าวในไทย คือ Clean Food หรืออาหารที่ผ่านการปรุงแต่งน้อย สำหรับในตลาดโลก จากการประเมินตลาดโดย Innova Market Insights (บริษัทวิจัยและรวบรวมข้อมูลด้านอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก) พบว่า Clean Label และ Free-From Food เป็นคุณสมบัติที่ผู้บริโภค ฝั่งตะวันตกมองหาในการเลือกซื้ออาหาร ทั้งนี้ คุณสมบัติดังกล่าวไม่ใช่กระแสใหม่ แต่กำลังจะเป็นกระแสหลักที่ได้รับความสนใจในตลาดต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรายละเอียดที่น่าสนใจของคุณสมบัติดังกล่าว มีดังนี้
Clean Label มีนิยามที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่โดยทั่วไปมักหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบหรือเครื่องปรุงจากธรรมชาติ ปราศจากสารเคมีหรือสารสังเคราะห์ อาทิ วัตถุปรุงแต่งกลิ่น รส และสี ขณะที่บางหน่วยงานขยายขอบเขตของ Clean Label ไปถึงฉลากที่ผู้บริโภคอ่านแล้วเข้าใจ เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลมากพอต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า และสามารถประเมินคุณค่าของอาหารได้ตรงกับความต้องการ ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ แต่ไม่มั่นใจในคุณสมบัติของส่วนประกอบ (Ingredients) เนื่องจากชื่อเรียกของส่วนประกอบบนบรรจุภัณฑ์อาหารมีเป็นจำนวนมาก และบางครั้งเป็นชื่อเฉพาะ ซึ่งเข้าใจได้ยาก
อาหารปลอดสารปรุงแต่ง หรืออาหารธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในสหราชอาณาจักร ปัจจุบันอาหาร Clean Label ได้รับความนิยมในหลายภูมิภาคของโลกตามความต้องการ TESCO มีการพิมพ์รายชื่อสารปรุงแต่งที่ไม่ต้องการให้ผสมในอาหารที่จำหน่ายใน TESCO ส่งให้แก่ Supplier เพื่อให้ผลิตอาหาร Clean Label ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ส่วนในสหรัฐฯ มีการประเมินว่าในปี 2557 ผลิตภัณฑ์อาหารธรรมชาติมีมูลค่าสูงถึง 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับในยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย ที่ผู้บริโภคมักมองหาอาหารธรรมชาติและหลีกเลี่ยงวัตถุปรุงแต่งอาหารแม้ที่เคยเป็นส่วนประกอบที่ได้รับความนิยมมากในอดีต อาทิ สารให้ความหวานสังเคราะห์ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคในสหรัฐฯ โดย RIBUS, Inc. (ผู้นำด้านธุรกิจวัตถุดิบประกอบอาหารที่เป็น Organic และ non-GMO) พบว่าสารปรุงแต่งรสในอาหารที่ผู้บริโภคสหรัฐฯ ต้องการหลีกเลี่ยงมากที่สุด คือ สารให้ความหวานจากข้าวโพด (High Fructose Corn Syrup : HFCS) ซึ่งลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดของสารให้ความหวานจากพืชชนิดอื่นเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะสารให้ความหวานที่สกัดจากใบของหญ้าหวาน (Stevia) โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ผลิตสารสกัดหญ้าหวานออกจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และยังเป็นประเทศที่ใช้หญ้าหวานมากที่สุดในโลก ปัจจุบันสารสกัดหญ้าหวานครองส่วนแบ่งในตลาดวัตถุให้ความหวานในญี่ปุ่นถึงร้อยละ 40 ทั้งนี้ บริษัท Zenith International (บริษัท ที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มระดับสากล) ประมาณการยอดจำหน่าย สารสกัดหญ้าหวานทั่วโลกปี 2557 เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 14 เป็น 4,670 ตัน มูลค่าตลาด 336 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องเป็น 578 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 สำหรับไทยมีการปลูกหญ้าหวานมานานกว่า 30 ปีแล้ว และในปัจจุบันมีการผลิตสารดังกล่าวในระดับอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งหลังจากที่องค์การอาหารและยาอนุญาตให้นำสารสกัดหญ้าหวานมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มได้ตั้งแต่ปี 2556 ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารได้เริ่มหันมาสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดหญ้าหวานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีผู้ผลิตน้ำผลไม้ไทยได้เปิดตัวน้ำผลไม้แคลอรีต่ำที่เพิ่มความหวานด้วยสารสกัดหญ้าหวานแล้ว
ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีในการตรวจสุขภาพที่พัฒนาขึ้น อาทิ การตรวจหาภูมิแพ้อาหารแฝงอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบว่าการแพ้อาหารชนิดใดที่อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องอืด อ่อนเพลียเรื้อรัง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อย ผื่นแพ้ตามผิวหนัง ทำให้ผู้บริโภคเลือกสรรอาหารที่จะรับประทานมากขึ้น ตลอดจนพยายามมองหาอาหารที่ปราศจากส่วนประกอบที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้ (Free-From Food) ทั้งนี้ ตัวอย่างของสินค้าประเภทนี้ คืออาหารที่ปลอดสารกลูเตน หรือ Gluten Free (กลูเตนคือโปรตีนที่พบในแป้งบางชนิด ได้แก่ แป้งสาลี ไรน์ และบาร์เลย์ ที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้ อาทิ ท้องอืด ท้องเสีย หรือท้องผูก ร่างกายขาดสารอาหาร น้ำหนักลด) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการเผยแพร่ความรู้ว่ากลูเตนมีคุณสมบัติกระตุ้นการอักเสบในร่างกาย นอกเหนือจากกลูเตนแล้ว ยังมีอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้ง่ายอีกหลายชนิด ได้แก่ นม ไข่ ปลา สัตว์น้ำประเภทมีเปลือก (Crustacean Shellfish) ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วลิสง ข้าวสาลี และถั่วเหลือง นอกจากนี้ เมื่อกล่าวถึง Free-From Food ยังมักรวมถึงสินค้าที่ไม่มี การดัดแปลงพันธุกรรม (non-GMO) ด้วย
ทั้งนี้ จากการสำรวจของ packaged Facts (บริษัทวิจัยตลาดอาหาร เครื่องดื่ม และพฤติกรรมผู้บริโภค) พบว่า ราวร้อยละ 44 ของชาวอเมริกันเลือกซื้ออาหารโดยคำนึงถึงส่วนประกอบ โดยพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของสารที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวนับว่าสูงกว่าสถิติของผู้ที่เป็นภูมิแพ้จากการตรวจพบทางการแพทย์อยู่มาก อาทิ ผู้แพ้กลูเตนมีเพียงร้อยละ 1 ของชาวอเมริกัน สัดส่วนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความนิยมในการรับประทานอาหารประเภท Free-From Food และความสำคัญของตลาดอาหารประเภทนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดอาหาร Free-From Food โลกมีมูลค่าประมาณ 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการตอบโจทย์ Clean Label และ Free-From Food ในมุมมองของผู้ผลิตอาหารไทยอาจต่างจากผู้ผลิตอาหารทางฝั่งตะวันตกซึ่งเน้นการหาวิธีปรุงอาหารโดยไม่ใส่ส่วนประกอบสังเคราะห์ แต่ต้องคงรสชาติให้อร่อยได้เหมือนเดิม เนื่องจากส่วนประกอบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติในปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างสูง และต้องนำเข้าเป็นหลัก การตอบโจทย์ของผู้ประกอบการอาหารไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็น SMEs อาจมีรูปแบบที่ต่างออกไป โดยเน้นใช้จุดแข็งของการมีพื้นฐานเกษตรกรรม และยังคงรูปแบบการเพาะปลูกแบบธรรมชาติเป็นหลัก อาทิ การผลิตอาหารด้วยวัตถุดิบธรรมชาติ ทั้งน้ำตาลทรายจากอ้อย และผลผลิตทางการเกษตรที่เป็น non-GMO นอกจากนี้ ส่วนประกอบสำคัญของอาหารไทยหลายประเภทปลอดกลูเตนโดยพื้นฐานอยู่แล้ว เช่น ข้าวเจ้า กะทิ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าสู่ตลาดอาหารธรรมชาติจึงไม่ต้องปรับกระบวนการผลิตของตนมากนัก เพียงแต่ปฏิบัติตามขั้นตอนการขอติดฉลาก Gluten Free บนบรรจุภัณฑ์สินค้าตามที่แต่ละประเทศกำหนด ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายประเทศมีการกำหนดระเบียบในการติดฉลาก Gluten Free ไว้เฉพาะ อาทิ สหรัฐฯ แคนาดา EU ออสเตรเลีย และบราซิล
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม 2558--