ด้วยเหตุนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแผนแม่บทการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในอาเซียน (ASEAN Interconnection Master Plan Study : AIMS) ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากการไฟฟ้าของแต่ละประเทศ มีหน้าที่ศึกษาและวางแผนการเชื่อมโยงระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าในอาเซียน (ASEAN Power Grid) เพื่อจัดสรรกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพและรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันโครงการ ASEAN Power Grid เป็น 1 ใน 7 แผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน ปี 2559-2568 (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation : APAEC 2016-2025) ซึ่งประกอบด้วยโครงการเชื่อมโยงระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าในอาเซียน โครงการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โครงการเทคโนโลยีถ่านหินและพลังงานสะอาด โครงการพลังงานหมุนเวียน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน โครงการนโยบายและแผนพลังงานของอาเซียน และโครงการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ โดยโครงการ ASEAN Power Grid มีแนวคิดริเริ่มมาจากความต้องการจัดสรรแหล่งพลังงานที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลายของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งพลังงานจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภูมิภาค โดยเฉพาะแหล่งพลังงานน้ำที่มีอยู่มากทางตอนเหนือของ สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ทั้งสามประเทศนี้จึงมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ทั้งนี้ โครงการ ASEAN Power Grid จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงานผ่านการซื้อขายไฟฟ้าภายในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ตามวิสัยทัศน์อาเซียนปี 2563 (ASEAN Vision 2020) สำหรับความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
ปัจจุบันอาเซียนมีโครงการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าแล้วเสร็จ (Existing APG Projects) จำนวน 6 โครงการ มีกำลังการผลิตรวม 3,489 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ หากโครงการเชื่อมต่อโครงข่ายทั้งหมดดำเนินการแล้วเสร็จตามกำหนด จะส่งผลให้อาเซียนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าภายใต้โครงการ ASEAN Power Grid สูงถึงกว่า 30,000 เมกะวัตต์
การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงานถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลักดันให้อาเซียนมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของหลายประเทศในอาเซียนยังเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน อาทิ การกำหนดราคาไฟฟ้าให้เหมาะสม การจัดหาแหล่งพลังงานหมุนเวียนใหม่เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานเดิมอย่างถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะในอินโดนีเซียและไทย ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยระบุว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 23,900 เมกะวัตต์ในปี 2554 เป็น 27,346 เมกะวัตต์ในปี 2558 นอกจากนี้ ไทยยังมีความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งเชื้อเพลิงและแหล่งพลังงานหมุนเวียนแห่งใหม่ เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงมาก
โครงการ ASEAN Power Grid จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยให้การบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าในอาเซียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้มีปริมาณไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ นอกจากวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศแล้ว โครงการ ASEAN Power Grid ยังส่งผลดีต่อประเทศสมาชิกอาเซียนในหลายด้าน อาทิ การเพิ่มความสามารถในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ การเพิ่มความหลากหลายของแหล่งผลิตไฟฟ้า รวมถึงการลดเงินลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในภูมิภาค ซึ่งผลการศึกษา AIMS II ระบุว่าการใช้พลังงานร่วมกันในระยะยาวตามโครงการ ASEAN Power Grid จะทำให้แต่ละประเทศสามารถลดกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันได้ถึง 2,458 เมกะวัตต์ และสามารถลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเป็นมูลค่า 788 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออาเซียนในด้านการจัดสรรแหล่งพลังงานในระยะยาว เช่น โครงการ Laos-Thailand- Malaysi-Singapore Power Integration Project (LTMS-PIP) ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ผ่านสายส่งกระแสไฟฟ้าของไทยและมาเลเซียไปยังประเทศคู่ค้าปลายทางคือ สิงคโปร์ โดยโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ซึ่งมีปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงกว่าปริมาณที่ใช้ในประเทศ ทำให้สามารถจำหน่ายไฟฟ้าไปยังประเทศใกล้เคียงและสิงคโปร์ซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในระดับสูง ในส่วนของประเทศไทยนอกจากได้ประโยชน์จากการได้รับจัดสรรพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การเป็นประเทศทางผ่านของการเชื่อมโยงระบบสายส่งกระแสไฟฟ้ายังช่วยให้ไทยมีรายได้จากค่าบริการส่งกระแสไฟฟ้า รวมถึงช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศด้วยการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อันจะส่งผลดีต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศให้มีไฟฟ้าใช้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันไทยมีความได้เปรียบด้านราคาไฟฟ้าเหนือประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอยู่แล้ว จึงเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น
การเชื่อมโยงระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าในอาเซียนถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอาเซียนจากการจัดสรรการใช้พลังงานร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้อาเซียนมีศักยภาพทัดเทียมกับภูมิภาคอื่นๆของโลก
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2559--