Share โลกเศรษฐกิจ: Negative Interest Rate...เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลายประเทศเริ่มหันมาใช้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 1, 2016 14:54 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan : BoJ) สั่นสะเทือนตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกด้วยการดำเนินมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นฝากไว้กับ BoJ จากเดิม 0.1% มาเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ย 3 ขั้น ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสุดอยู่ที่ -0.1% (อัตราดอกเบี้ย 3 ขั้น ได้แก่ 0.1%, 0% และ -0.1% ขึ้นอยู่กับปริมาณเงินที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ BoJ) นับเป็นการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ (Negative Interest Rate) เช่นเดียวกับที่ยูโรโซนเริ่มใช้มาตั้งแต่ราวกลางปี 2557 ตามด้วยสวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และสวีเดน

หากพิจารณาถึงสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการใช้ Negative Interest Rate พบว่า ธนาคารกลางของทุกประเทศล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดแรงจูงใจของธนาคารพาณิชย์ในการนำเงินดังกล่าวไปฝากไว้ที่ธนาคารกลาง โดยหวังผลให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินไปปล่อยกู้ในระบบเศรษฐกิจแทน ด้วยเหตุนี้ Negative Interest Rate จึงเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงที่เครื่องมือที่เคยใช้อยู่เดิมอย่างการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบไม่ค่อยเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่ในส่วนของญี่ปุ่นมีจุดประสงค์เพิ่มเติมเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) และต้องการบรรลุอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ระดับ 2% ให้ได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2560

กลไกกระตุ้นเศรษฐกิจของ Negative Interest Rate อาจเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ ดังเห็นได้จากกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นอาจพิจารณาผลักภาระอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้ BoJ ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากแก่ลูกค้ารายย่อยและภาคธุรกิจ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในระดับที่ไม่น่าจูงใจอาจเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนนำเงินไปใช้จ่ายและภาคธุรกิจนำเงินไปลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เช่นกัน นอกจากนี้ Negative Interest Rate อาจส่งผลทางอ้อมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยทำให้นักลงทุนโยกเงินไปแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในต่างประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากญี่ปุ่นและกดดันให้เงินเยนอ่อนค่า ส่งผลให้การส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของญี่ปุ่นฟื้นตัวดีขึ้น

ปัจจุบันเริ่มมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวโน้มของการเกิดสงครามค่าเงินจากผลของการประกาศใช้ Negative Interest Rate ที่ทำให้เงินเยนของญี่ปุ่น ณ วันที่ 29 มกราคม 2559 อ่อนค่าทันที 1.8% จากวันก่อนลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ที่ 121 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงมีความเป็นไปได้ว่าประเทศอื่นจะดำเนินรอยตามญี่ปุ่นเพื่อรักษาสถานะการแข่งขันของประเทศไว้ โดยเฉพาะยูโรโซนซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงพร้อมกับขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้หรือไม่ ขณะที่ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดด้านเศรษฐกิจอย่างนาย Ben Bernanke อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ก็ออกมาให้ความเห็นว่า Negative Interest Rate เป็นเครื่องมือที่สหรัฐฯ ควรนำมาพิจารณาในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ