ปัจจุบันประชากรทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น สะท้อนจากรายงานสถานการณ์โรคไม่ติดต่อขององค์การอนามัยโลกในปี 2557 ระบุว่า 13% ของประชากรทั่วโลกป่วยเป็นโรคอ้วน และ 39% ของประชากรทั่วโลกอยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน นอกจากนี้ International Diabetes Federation คาดการณ์ว่า ในปี 2583 ประชากรทั่วโลกจะป่วยเป็นโรคเบาหวานกว่า 600 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปี 2558 สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานของไทยในปี 2557 ที่เพิ่มขึ้นถึง 35% จากปี 2550 และยังมีผู้ป่วยโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์โรคอ้วนและโรคเบาหวานที่รุนแรงขึ้น หลายประเทศตื่นตัวและหันมาใช้มาตรการทางภาษีเพื่อให้ประชากรในประเทศห่างไกลจากโรคดังกล่าว ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดให้การลดจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวานทั่วโลกเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ และเร่งผลักดันให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินนโยบายที่จะสนับสนุนภารกิจดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
หนึ่งในมาตรการทางภาษีที่สำคัญและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ “ภาษีสรรพสามิต” ซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บเพื่อให้ราคาสินค้าสูงขึ้นกว่าปกติตามวัตถุประสงค์ที่ภาครัฐกำหนดไว้ อาทิ ภาษีที่เก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ในกรณีนี้มักเรียกว่า “ภาษีสุขภาพ” อาทิ การจัดเก็บภาษีจากบุหรี่เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคลดการสูบบุหรี่ เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีจากสุราเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคลดการดื่มสุรา นอกจากบุหรี่และสุราแล้ว เริ่มมีการจัดเก็บภาษีจากอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมบางชนิด อาทิ น้ำตาล เกลือ และไขมัน ในปริมาณมากเกินไป เพื่อให้ผู้บริโภคลดการบริโภคอาหารดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลจะนำเงินที่ได้จากการเก็บภาษีไปใช้เป็นกองทุนเพื่อเสริมสร้างสุขภาพของประชากรในประเทศ อาทิ โครงการแจกจ่ายอาหารแก่ผู้ขาดสารอาหาร และการบำบัดผู้ป่วยโรคอ้วนเรื้อรัง
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในการจัดเก็บภาษีจากอาหารและเครื่องดื่ม คือ ภาษีที่จัดเก็บจากอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด หรือเรียกว่า “ภาษีน้ำตาล” ถูกบังคับใช้แล้วในหลายประเทศ อาทิ ในปี 2555 ฟินแลนด์จัดเก็บภาษีน้ำตาลในอัตรา 0.95 ยูโรต่อไอศกรีม 1 กิโลกรัม เช่นเดียวกับเมือง Berkeley ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีน้ำตาลในอัตรา 0.01 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์สำหรับน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และชาที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ขณะที่ในปี 2558 ชิลีจัดเก็บภาษีน้ำตาลในอัตรา 18% ของราคาขายปลีก เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากกว่า 6.25 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร
แม้ว่าผลของการจัดเก็บภาษีสุขภาพยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศประสบความสำเร็จจากการจัดเก็บภาษีสุขภาพ ซึ่งภาษีที่เพิ่มขึ้นมักจะถูกผลักให้เป็นภาระของผู้บริโภคทั้งหมด จึงส่งผลให้ปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพมีแนวโน้มลดลง ดังตัวอย่างต่อไปนี้
จะเห็นได้ว่าการจัดเก็บภาษีสุขภาพอาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของภาครัฐในการช่วยแก้ปัญหาโรคอ้วนและโรคที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ของประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมด้วย โดยเฉพาะหากประเทศที่เป็นตลาดส่งออกน้ำตาลและผลิตภัณฑ์อาหาร/เครื่องดื่มที่สำคัญของไทยหันมาเก็บภาษีน้ำตาล ล่าสุดอินโดนีเซียอยู่ระหว่างพิจารณาบังคับใช้ภาษีน้ำตาล ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของไทย ด้วยมูลค่าส่งออกกว่า 530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของมูลค่าส่งออกน้ำตาลทั้งหมดของไทย นอกจากนี้ อินเดียและฟิลิปปินส์ก็อยู่ระหว่างบังคับใช้ภาษีน้ำตาลเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจึงควรวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นดังกล่าว
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2559--