อุตสาหกรรมยานยนต์ในเมียนมาเริ่มมีแนวโน้มสดใส หลังจากรัฐบาลเมียนมามีนโยบายผ่อนคลายการนำเข้ารถยนต์เมื่อปี 2555 จากเดิมที่มีการจำกัดการนำเข้ารถยนต์มานานหลายทศวรรษ เพื่อควบคุมปริมาณรถยนต์นำเข้าในประเทศ โดยอนุญาตให้มีการนำเข้ารถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์มาจำหน่ายในประเทศได้ ส่งผลให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายอดจำหน่ายรถยนต์ในเมียนมาเติบโตแบบก้าวกระโดด สอดคล้องกับที่บริษัท Frost & Sullivan บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชั้นนำของโลก คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมในเมียนมาจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.8 ต่อปีในปี 2555-2562 ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายยานยนต์ฉบับใหม่ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ศูนย์บริการบำรุงรักษารถยนต์ และตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ เข้าไปขยายตลาดในเมียนมา
การยกเลิกมาตรการจำกัดการนำเข้ารถยนต์ของเมียนมาทำให้จำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนในเมียนมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 267,561 คันในปี 2555 เป็น 313,582 คันในปี 2556 และ 389,441 คัน ในปี 2557 หรือขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 20 เทียบกับที่ขยายตัวเฉลี่ย ราวร้อยละ 5 ในปี 2552-2555 สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่ชาวเมียนมานิยมใช้เพียงรถจักรยานยนต์ในการเดินทาง
ปัจจุบันตลาดรถยนต์ในเมียนมากว่าร้อยละ 90 เป็นรถยนต์นำเข้า ส่วนที่เหลือเป็นรถยนต์ที่ผลิตในเมียนมา รถยนต์นำเข้าส่วนใหญ่เป็นรถยนต์จากญี่ปุ่น โดยเฉพาะรถยนต์มือสอง เนื่องจากชาวเมียนมาเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของรถยนต์ญี่ปุ่น ประกอบกับมีระดับราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อ ขณะที่รถยนต์ใหม่จากจีนและเกาหลีใต้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ จากกลยุทธ์การรุกตลาดด้วยการเสนอราคาที่ถูกกว่ารถยนต์ใหม่จากญี่ปุ่น ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายรถยนต์นำเข้าในเมียนมาปี 2557 เป็นรถยนต์ญี่ปุ่นถึงร้อยละ 87 ของยอดจำหน่ายรถยนต์นำเข้าทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ เกาหลีใต้ (ร้อยละ 10) สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และจีน (ร้อยละ 3) สำหรับช่องทางการจำหน่ายรถยนต์นำเข้าในเมียนมาแบ่งเป็น 4 ช่องทาง ดังนี้
ช่องทางการจำหน่ายรถยนต์นำเข้าในเมียนมาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การจำหน่ายผ่านนายหน้า ด้วยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 55 ของยอดจำหน่ายรถยนต์นำเข้าทั้งหมด เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ได้ราคาดี และผู้ซื้อไม่ต้องผ่านขั้นตอนการนำเข้าเองให้ยุ่งยาก อีกทั้งการซื้อรถยนต์ผ่านนายหน้ายังได้ราคาที่ต่ำกว่าการซื้อผ่านเต็นท์รถซึ่งมีการบวกกำไร ขณะที่การนำเข้าเองโดยตรงเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น หลังจากเมื่อปี 2555 รัฐบาลเมียนมาอนุญาตให้ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปสามารถนำเข้ารถยนต์ใหม่มาใช้ได้โดยตรง แต่การนำเข้าเองมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลาดำเนินการอย่างน้อย 2 เดือน ส่วนการจำหน่ายผ่านตัวแทนอย่างเป็นทางการยังไม่ค่อยเป็นที่นิยม เนื่องจากตัวแทนจำหน่ายเน้นขายรถยนต์ใหม่เป็นหลัก ขณะที่ชาวเมียนมาส่วนใหญ่ยังนิยมใช้รถยนต์มือสอง แต่เป็นที่คาดว่าในอนาคต ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจะได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากชาวเมียนมามีแนวโน้มหันมาซื้อรถยนต์ใหม่มากขึ้นตามนโยบายการทดแทนรถยนต์เก่า (Old Car Replacement Plan) ของรัฐบาล
แม้ว่าจำนวนยานพาหนะที่จดทะเบียนในเมียนมาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการเข้าถึงรถยนต์ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยในปี 2555 จำนวนรถยนต์ต่อจำนวนประชากร (Vehicles per Capita) ของเมียนมาอยู่ที่ 18 คันต่อประชากร 1,000 คน (เทียบกับไทยที่ 370 คันต่อประชากร 1,000 คน) สะท้อนตลาดรถยนต์ในเมียนมายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกหลายรายเล็งเห็นถึงโอกาสดังกล่าวจึงเข้าไปตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ และตัวแทนจำหน่ายในเมียนมาแล้ว อาทิ Toyota, Nissan,Suzuki, Mitsubishi, TATA, Ford, GM, KIA, Mercedes Benz และ BMW เป็นต้น สำหรับโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในเมียนมาของผู้ประกอบการไทยที่น่าสนใจ มีดังนี้
ตลาดรถยนต์ในเมียนมาถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งด้านการค้าและการลงทุน จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปเจาะตลาดเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจในเมียนมาในระยะถัดไป นอกจากนี้ เมียนมายังมีความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้งของประเทศที่เชื่อมโยงกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถใช้เป็นฐานกระจายสินค้าไปประเทศเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรติดตามความเคลื่อนไหวของกฎหมายยานยนต์ฉบับใหม่ของเมียนมาที่จะประกาศใช้ในอนาคต เพื่อปรับกลยุทธ์ในการรุกตลาดเมียนมาได้อย่างทันท่วงที
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2559--