ส่งออกไทยรุกห่วงโซ่อุปทานภาคบริการในจีน... จุดเปลี่ยนที่น่าสนใจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 24, 2016 14:00 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนที่ต้องการลดบทบาทของภาคการค้าระหว่างประเทศ และหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น ซึ่งการปฏิรูปดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตของจีน รวมถึงไทย ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนปี 2558 มีมูลค่าราว 23,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำสุดในรอบ 5 ปี อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจจีนในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอลง แต่ภาคบริการของจีนยังขยายตัวดีและก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นต่อเศรษฐกิจจีน ดังเห็นได้จากสัดส่วนภาคบริการต่อ GDP ของจีนในปี 2558 อยู่ที่ราว 50% เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 46% ขณะเดียวกันดัชนี PMI ภาคบริการของจีนในเดือนมกราคม 2559 อยู่ที่ระดับ 52.4 สูงสุดในรอบ 6 เดือน และสูงกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 สวนทางกับเศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอตัวในปัจจุบัน

การขยายตัวของภาคบริการในจีนมีแรงสนับสนุนจากหลายภาคเศรษฐกิจ อาทิ การขนส่ง ในปี 2558 การขนส่งสินค้าทั้งทางถนน ทางเรือ และทางอากาศในจีนขยายตัวในระดับ 6-8% ขณะที่การขนส่งผู้โดยสารขยายตัวกว่า 10% นอกจากนี้ จีนกำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปภาคขนส่งครั้งใหญ่ โดยมีการนำรถยนต์ไฟฟามาใช้มากขึ้น ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2558-2563 มีแนวโน้มขยายตัวสูงถึงปีละ 34% การก่อสร้าง รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยอัดฉีดงบประมาณในปี 2559 สำหรับสร้างรถไฟความเร็วสูงกว่า 8 แสนล้านหยวน และโครงการชลประทานอีกราว 1.15 แสนล้านหยวน นอกจากนี้ แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว แต่ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากและชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ปี 2558 ขยายตัวในระดับ 14-16% โทรคมนาคม นอกจากจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกแล้ว ราว 3 ใน 4 ของประชากรจีนใช้สมาร์ทโฟน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาตลาดสมาร์ทโฟนของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว จนหลายบริษัทก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนที่มีส่วนแบ่งตลาดลำดับต้นๆ ของโลก อาทิ Xiaomi และ Huawei การท่องเที่ยว ในปี 2558 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวในจีนราว 134 ล้านคน ขยายตัว 4% สร้างรายได้สูงถึง 1.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โรงแรมและร้านอาหาร ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ส่งผลให้รายได้จากบริการร้านอาหารและเครื่องดื่มของจีนสูงถึง 3 ล้านล้านหยวน ขยายตัว 12% ในปี 2558 ขณะที่ธุรกิจโรงแรมในจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมยักษ์ใหญ่ของโลกหลายรายวางแผนขยายธุรกิจในจีน โดยเฉพาะโรงแรมระดับกลางที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

การเติบโตของภาคบริการในจีนนับเป็นโอกาสสำคัญของการส่งออกสินค้าไทย สังเกตได้จาก แม้การส่งออกของไทยไปจีนปี 2558 โดยรวมหดตัว แต่การส่งออกของไทยไปจีนในหลายกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการกลับขยายตัวดี อาทิ กลุ่มขนส่ง อาทิ ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (ขยายตัว 66%) ตามยอดจำหน่ายรถยนต์ในจีนที่ยังขยายตัวดี กลุ่มวัสดุก่อสร้างอาทิ แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า (ขยายตัว 37%) ลวดและตะปู (ขยายตัว 17%) ก๊อก วาวล์ และส่วนประกอบ (ขยายตัว 17%) อุปกรณ์เหล่านี้ใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ ตลอดจนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กลุ่มโทรคมนาคม อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า (ขยายตัว 111%) ส่วนหนึ่งนำไปผลิตสมาร์ทโฟนที่กำลังขยายตัวดี เช่นเดียวกับเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ที่ขยายตัว 80% กลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร อาทิ ที่นอน หมอน ฟูก (ขยายตัว 302%) กุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง (ขยายตัว 117%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (ขยายตัว 19%) สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวและความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางในจีน

ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนดังกล่าว ผู้ส่งออกไทยควรพิจารณาโอกาสในการส่งออกสินค้าที่สอดคล้องกับภาคบริการของจีนที่ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งสินค้าหลายชนิดล้วนเป็นสินค้าที่ไทยมีความถนัดและมีศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งหากสินค้าไทยสามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของภาคบริการในจีนได้เหมือนที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิต ก็จะช่วยให้การส่งออกของไทยไปจีนกลับมาขยายตัวได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ