โอกาสในวิกฤต...ถึงเวลาชาติอาหรับปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 30, 2016 14:15 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ราคาน้ำมันตกต่ำในปัจจุบันส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศที่พึ่งพารายได้จากน้ำมันในสัดส่วนสูงอย่างกลุ่ม คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) กาตาร์ และบาห์เรน โดยหลายประเทศเริ่มประสบปัญหาขาดดุลการคลังและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจนทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงมาก ขณะที่ IMF คาดว่าเศรษฐกิจประเทศกลุ่มดังกล่าวจะขยายตัวเฉลี่ยเพียง 3% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า ต่ำลงกว่าครึ่งจากค่าเฉลี่ย 10 ปีก่อนที่ราว 6% นอกจากนี้ นักวิเคราะห์บางสำนักยังมองถึงขั้นว่าหากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องอาจมี บางประเทศต้องเผชิญกับภาวะล้มละลายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สถานการณ์ดังกล่าวแม้จะกดดันให้เศรษฐกิจของกลุ่ม GCC เผชิญกับ ความยากลำบากในระยะสั้น แต่หากมองในแง่ดีก็ถือเป็นตัวเร่งที่ทำให้ประเทศกลุ่ม GCC หันกลับมาให้ความสำคัญกับ การปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังมากขึ้นในหลายๆ ด้าน เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันเพียงอย่างเดียว ดังนี้

ภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันกลุ่ม GCC เริ่มหันมาพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะปิโตรเคมี ขั้นปลาย ซึ่งหลายประเทศมีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิม โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวจะช่วยรักษา Margin และสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดีกว่า การส่งออกแต่เพียงน้ำมันดิบเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ซึ่ง GCC ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเคมีภัณฑ์เฉลี่ย 5% ต่อปี ในอีก 5 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมพลาสติกที่หลายประเทศ โดยเฉพาะโอมานตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเฉลี่ยปีละ 18% ต่อปีจนถึงปี 2563 นอกจากนี้ กลุ่ม GCC ยังเดินหน้าดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ๆ อาทิ โทรคมนาคม อาหาร ยานยนต์ เป็นต้น โดยเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนผ่อนคลายกฎระเบียบและให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนแก่ นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการเข้ามาลงทุนในกลุ่ม GCC ยังค่อนข้างลำบาก สะท้อนได้จากดัชนีวัดความยากง่าย ในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยธนาคารโลก พบว่ามีเพียง UAE ประเทศเดียวที่มีคะแนนติด 60 อันดับแรกของโลก

ภาคบริการ ปัจจุบันประเทศในกลุ่ม GCC ส่วนใหญ่มีสัดส่วนภาคบริการไม่เกิน 40% ต่อ GDP ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วซึ่งอยู่ที่กว่า 70% ต่อ GDP ทำให้ประเทศในกลุ่ม GCC เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนา ภาคบริการมากขึ้น อาทิ การท่องเที่ยว ซึ่งแม้ว่าหลายประเทศไม่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าดึงดูดเหมือนภูมิภาคอื่น แต่ GCC ได้ใช้จุดแข็งด้านเงินทุนในการพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวด้านกีฬา (Sport Tourism) ที่หลายประเทศพยายามดึงมหกรรมกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศของตนเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง อาทิ การแข่งรถ Formula 1 ที่มีโปรแกรมการแข่งขันทุกปีใน UAE และบาห์เรน หรือการจัดแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2563 ที่กาตาร์ เป็นต้น นอกจากนี้ หลายประเทศยังมีการพัฒนาธุรกิจสายการบินจนติดอันดับ 1 ใน 10 สายการบินยอดเยี่ยมของโลกในปี 2558 ทั้ง Qatar Airways, Emirates และ Etihad Airways เป็นต้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากต้นทุนน้ำมันที่ต่ำ อีกทั้งความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ทำให้หลายประเทศในกลุ่ม GCC กลายเป็นศูนย์กลางขนส่งผู้โดยสารและสินค้าของโลก นอกจากนี้ กลุ่ม GCC ยังหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจการจัดการประชุมสัมมนาและแสดงสินค้า (MICE) ธุรกิจค้าปลีก รวมทั้งธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าในปี 2559 ธุรกิจก่อสร้างในกลุ่ม GCC จะขยายตัวถึง 11% และจะมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจแล้ว กลุ่ม GCC ยังหันมาให้ความสำคัญกับการปฏิรูปสวัสดิการสังคมและระบบภาษี มากขึ้น เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่เป็นรัฐสวัสดิการ โดยแต่ละปีรัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่ออุดหนุน บริการด้านสาธารณสุข การศึกษา สาธารณูปโภคต่างๆ ขณะที่ภาครัฐแทบไม่มีรายได้จากการเก็บภาษีเลย สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายประเทศเริ่มพิจารณาที่จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีเงินได้ ควบคู่ไปกับการลดการอุดหนุนสวัสดิการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันวิกฤตทางการคลังที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต

จะเห็นได้ว่าแม้ราคาน้ำมันที่ตกต่ำในปีที่ผ่านมาจะทำให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ GCC ชะลอลงอย่างมาก จนส่งผลให้ มูลค่าส่งออกของไทยไปกลุ่ม GCC ในปี 2558 หดตัว 6.7% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่ากลุ่ม GCC ยังเป็น ภูมิภาคที่น่าสนใจทั้งด้านการค้าการลงทุน หากกลุ่ม GCC สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจสำเร็จก็จะช่วยให้เศรษฐกิจกลุ่ม GCC กลับมา ยืนหยัดและคึกคักได้อีกครั้ง ซึ่งก็มีความเป็นไปได้อยู่ไม่น้อย เนื่องจากกลุ่ม GCC มีความมั่งคั่งเป็นทุนเดิม ประกอบกับรัฐบาลผลักดันอย่างจริงจัง ซึ่งการปฏิรูปเศรษฐกิจดังกล่าวถือเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยในหลายสินค้า อาทิ เครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องสวนทางกับภาวะส่งออกของไทยโดยรวมไปกลุ่ม GCC ที่หดตัว โดยได้อานิสงส์จากการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในธุรกิจบริการ อาทิ รับเหมาก่อสร้าง รับจ้างบริหารโรงแรม ตลอดจนโรงพยาบาล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจกับกลุ่มประเทศ GCC ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างใกล้ชิด และเตรียมเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ธสน.

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ