รู้ลึก AEC: เมียนมา หลังออกจากสถานะประเทศที่ FATF เฝ้าระวังด้านการฟอกเงิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday September 1, 2016 13:19 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force on Money Laundering : FATF) ประกาศถอดเมียนมาออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่มีความบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering/Counter Financing of Terrorism : AML/CFT) เนื่องจากเมียนมามีพัฒนาการในการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุน ทางการเงินแก่การก่อการร้าย หลังจากในช่วงที่ผ่านมา เมียนมาปฏิบัติตามนโยบายและขั้นตอนการดำเนินงานของ FATF อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเมียนมายังไม่หลุดออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในการฟอกเงินของ FATF อย่างเต็มรูปแบบ จนกว่าเมียนมาจะดำเนินการปราบปรามการฟอกเงินได้อย่างสมบูรณ์ตามกรอบเวลาที่ FATF กำหนด แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่าเมียนมาเป็นที่ยอมรับของนานาชาติมากขึ้น อันจะช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนมีความมั่นใจในการเข้าไปดำเนินธุรกิจในเมียนมามากขึ้น ตลอดจนช่วยลดอุปสรรคและขั้นตอนการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารในเมียนมา

เมียนมามีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่มีความบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ด้าน AML/CFT ตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากชาวเมียนมาส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าด้วยเงินสดเป็นหลัก แม้กระทั่งการซื้อสินค้าที่มีราคาสูงก็ตาม ส่งผลให้การติดตามและตรวจสอบเส้นทางการเงินในเมียนมาเป็นไปอย่างยากลำบาก อีกทั้งภาคธนาคารของเมียนมายังขาดระบบการตรวจสอบธุรกรรมทางการ

เงินและมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากการฟอกเงิน ซึ่งรัฐบาลเมียนมาตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และใช้ความพยายามในการปิดช่องทางการฟอกเงินในประเทศมาโดยตลอด สะท้อนได้จากการออกกฎหมายและข้อบังคับหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อาทิ Anti-Money Laundering Law 2014, Directive for the Customer Due Diligence Measures 2015 และ Anti-Money Laundering Guidelines 2015 เป็นต้น ซึ่ง FATF ได้ทำการประเมินขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ ของเมียนมาตามกรอบเวลาที่กำหนด ก่อนที่จะพิจารณาถอดเมียนมาออกจากบัญชีดังกล่าวในที่สุด ทั้งนี้ FATF แบ่งกลุ่มประเทศที่มีความบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ด้าน AML/CFT เป็น 3 ระดับ ดังนี้

ข้อปฏิบัติของธนาคาร/สถาบันการเงินในเมียนมา

เมียนมาได้ออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการฟอกเงินหลายฉบับ เพื่อสร้างมาตรฐานการตรวจสอบเส้นทางการเงินในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว คือ การจัดทำ Directive for the Customer Due Diligence Measures 2015 ของธนาคารกลางเมียนมา ซึ่งกำหนดให้ธนาคาร/สถาบันการเงิน (FIs) ในประเทศ มีหน้าที่ตรวจสอบและรายงานธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติหรือต้องสงสัยว่าเป็นการฟอกเงินต่อ Financial Intelligence Unit (FIU) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมให้ FIs ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเคร่งครัด โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

1) ข้อปฏิบัติระหว่างธนาคารกลางเมียนมา-ธนาคาร/สถาบันการเงิน

  • กฎระเบียบและมาตรการป้องกันการฟอกเงินต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีผลบังคับใช้กับสาขาของธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งธนาคารในเครือทุกแห่ง
  • FIs ต้องทบทวนขั้นตอนการดำเนินงานและมาตรการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินเป็นประจำ และปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ
  • FIs ต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบ และขั้นตอนการปฏิบัติงานให้แก่ธนาคารกลางเมียนมาตามกำหนด

2) ข้อปฏิบัติระหว่างธนาคาร-ธนาคาร

  • ตรวจสอบข้อมูล/ประวัติของธนาคาร และขอเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนที่จะเปิดความสัมพันธ์ในลักษณะธนาคารตัวแทน (Correspondent Bank) และประเมินความเสี่ยงด้านการฟอกเงินของธนาคารนั้นๆ ตามกฎระเบียบและขั้นตอนที่กำหนด
  • การเปิดความสัมพันธ์กับธนาคารใดๆ ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะผู้บริหารระดับสูงของธนาคารเท่านั้น
  • ห้ามแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์กับธนาคารที่ไม่มีตัวตน (Shell Banks) หรือไม่มีใบอนุญาตดำเนินกิจการธนาคาร (Banking License)
  • ห้ามเปิดบัญชีและทำธุรกรรมใดๆ กับ Shell Banks

3) ข้อปฏิบัติระหว่างธนาคาร-ลูกค้า

  • ตรวจสอบข้อมูลส่วนตัวและประวัติเจ้าของบัญชี และแหล่งที่มาของรายได้เจ้าของบัญชี หรือลักษณะของธุรกิจและขนาดสินทรัพย์ (กรณีเป็นบริษัท) อย่างละเอียด
  • ห้ามเปิด/รักษาบัญชีที่ไม่สามารถระบุตัวตนเจ้าของบัญชี
  • จับตาธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติและมีมูลค่าสูง ตลอดจนประเมินความเสี่ยงลูกค้าเป็นประจำ (หากพบธุรกรรมผิดปกติ ต้องทำการปิดบัญชีและรายงานต่อ FIU ทันที)

ทั้งนี้ ธนาคาร/สถาบันการเงินในเมียนมามีหน้าที่ต้องรายงานต่อ FIU เมื่อตรวจพบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติภายใน 24 ชั่วโมงสำหรับพื้นที่เขตเมือง และไม่เกิน 3 วันทำการสำหรับพื้นที่นอกเขตเมือง นอกจากนี้ ธนาคาร/สถาบันการเงินแต่ละแห่งต้องตรวจสอบข้อมูลเงินเข้า-ออก และรายงานธุรกรรมการโอนเงินที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

นับจากนี้ การทำธุรกรรมกับธนาคารในเมียนมาจะมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากการทำธุรกรรมกับประเทศที่มีความบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ด้าน AML/CFT อย่างเมียนมาในช่วงที่ผ่านมา มักถูกตรวจสอบอย่างละเอียดและขอเอกสารเฉพาะเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งทำให้ใช้เวลาค่อนข้างมากในการทำธุรกรรมแต่ละรายการ ดังนั้น การออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่มีความบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ฯ ของเมียนมาในครั้งนี้ นับเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่การออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในการฟอกเงินของ FATF อย่างเต็มรูปแบบในระยะถัดไป สอดคล้องกับการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลก (Corruption Perceptions Index) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ซึ่งจัดอันดับเมียนมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเมียนมาอยู่อันดับที่ 147 (เทียบกับไทยอันดับที่ 76 จากทั้งหมด 168 ประเทศ) จากเดิมเมื่อปี 2553 อยู่อันดับที่ 176 (จากทั้งหมด 178 ประเทศ) สะท้อนให้เห็นว่าภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของเมียนมาในเวทีโลกกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ