ศรีลังกาถือเป็นประเทศขนาดเล็กในภูมิภาคเอเชียใต้ ไม่ว่าจะพิจารณาจากขนาดพื้นที่ที่เล็กเพียง 1 ใน 8 ของประเทศไทย มีประชากรราว 20 ล้านคน ขณะที่เศรษฐกิจมีขนาดเพียง 1 ใน 5 ของไทย และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง-ล่าง (Lower-Middle-Income) เมื่อประกอบกับภาวะสงครามภายในประเทศที่ยืดเยื้อถึง 26 ปี ในช่วงปี 2526-2552 ทำให้ที่ผ่านมาศรีลังกาไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน
อย่างไรก็ตาม หลังจากสงครามในประเทศสิ้นสุดลงในปี 2552 ศรีลังกาได้รับการจับตามองอีกครั้งในฐานะประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเศรษฐกิจของศรีลังกาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 7.1% ต่อปี เช่นเดียวกับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจำนวนมากที่กำลังหลัง่ ไหลเข้าไปในศรีลังกา โดยในปี 2558 มีมูลค่าสูงถึงราว 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 40% จากปี 2557 ขยายตัวสูงสุดในภูมิภาคเอเชียใต้ ขณะที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ทั้งสหรัฐฯ และจีน ต่างมองศรีลังกาเป็นยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการลงทุนที่สำคัญ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาผู้นำระดับสูงของรัฐบาลจีนและสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนศรีลังกาหลายครั้งเพื่อเจรจาการค้าและการลงทุน เช่นเดียวกับไทยที่ผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเดินทางเยือนศรีลังกา อย่างเป็นทางการเพื่อเปิดความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศเล็กๆ อย่างศรีลังกา มีหลายสิ่งที่ไม่ธรรมดาซ่อนอยู่
ศรีลังกาตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญของโลก โดยมีลักษณะเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางของเส้นทางเดินเรือระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา ทำให้ศรีลังกาถูกยกให้เป็น Logistics Hub แห่งใหม่ของโลก ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้ทัง้ สหรัฐฯ และจีนรวมถึงประเทศอื่นๆ ต้องการเปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากับศรีลังกาเพื่อเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ซึ่งด้วยที่ตั้งที่เป็นยุทธศาสตร์การค้านี้เอง ทำให้ศรีลังกาเป็นเมืองท่าสำคัญในการขนถ่ายสินค้า โดยท่าเรือโคลัมโบของศรีลังกาเป็นท่าเรือที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในเอเชียใต้และใหญ่เป็นอันดับที่ 27 ของโลกในปัจจุบัน และกำลังอยู่ระหว่างการขยายท่าเรือครั้งใหญ่ โดยจีนเป็นผู้สนับสนุนเงินลงทุนกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 ซึ่งจะทำให้ท่าเรือโคลัมโบเป็นท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับ Top 15 ของโลก
ประชากรมีคุณภาพ โดยอัตราการรู้หนังสือ (Literacy Rate) ของศรีลังกาอยู่ในระดับสูงถึง 92% สูงสุดเมื่อเทียบกับบรรดาประเทศรายได้ระดับปานกลาง-ล่างด้วยกันและอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลศรีลังกาให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศจะตกอยู่ภายใต้ภาวะสงครามมายาวนานก็ตาม ศรีลังกาเริ่มใช้นโยบายการศึกษาภาคบังคับจนถึงระดับมัธยมต้น รวมถึงนโยบายเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรีมาตั้งแต่ปี 2521 ทำให้ปัจจุบันศรีลังกาถือเป็นต้นแบบสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆในการพัฒนาระบบการศึกษา ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าประชากรที่มีการศึกษาของศรีลังกาจะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และสร้างความได้เปรียบให้กับศรีลังกาเหนือประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
ภาคบริการมีศักยภาพสูง ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มักใช้ภาคอุตสาหกรรมเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก่อนพัฒนาไปสู่ภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงต่อไป อย่างไรก็ตามศรีลังกาเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงไม่กี่ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ภาคบริการเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปัจจุบันภาคบริการของศรีลังกาคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราว 65% ต่อ GDP ใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้วและมีอัตราขยายตัวในระดับสูง โดยเฉพาะภายหลังจากที่สงครามภายในประเทศสิ้นสุดลง ภาคบริการของศรีลังกาขยายตัวเฉลี่ยราว 7.5% ต่อปี โดยภาคบริการที่มีศักยภาพสูงของศรีลังกาได้แก่ ภาคขนส่ง ค้าส่งค้าปลีก และท่องเที่ยว
แม้มูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างไทยและศรีลังกาจะยังไม่สูงนัก แต่ด้วยเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวอย่างร้อนแรง ประกอบกับบทบาทของศรีลังกาในการเป็น Logistics Hub ที่เริ่มเด่นชัดขึ้น ทำให้คาดว่าศรีลังกาจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทย ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน โดยสินค้าส่งออกของไทยไปศรีลังกาที่มีแนวโน้มขยายตัวดี อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องสำอาง รวมถึงอาหาร ที่จะได้ประโยชน์จากกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวศรีลังกาที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับโอกาสด้านการลงทุน โดยเฉพาะในภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของศรีลังกา ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง อาทิ การท่องเที่ยว การบริหารจัดการโรงแรม โรงพยาบาล ค้าส่งค้าปลีก เป็นต้น
Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ธสน.
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--