การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ถือเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญที่ทั่วโลกต่างจับตามอง เนื่องจากนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่จะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งแม้ปัจจุบันการเลือกตั้งดังกล่าวจะยังอยู่ในขั้นตอนของการเลือกตั้งขั้นต้น (Pimay Vte) เพื่อสรรหาตัวแทนพรรค แต่จากผลการเลือกตั้งจนถึงปัจจุบันมีความเป็นไปได้สูงว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ จะได้เป็นตัวแทนจากพรรครีพับริกัน และนางฮิลลารี คลินตัน จะได้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต ซึ่งจากนโยบายที่ทั้งคู่ใช้หาเสียงและแสดงวิสัยทัศน์ถือว่ามี ความน่าสนใจ โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการค้าโลกและการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ภายใต้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจที่หลายท่าน คงเคยได้ยินในชื่อว่า Tumpmics ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการดึงภาคการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ กลับสู่สหรัฐฯ เนื่องจากทรัมป์มองว่าการย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างๆ ไปยังประเทศกำลังพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้แรงงานในสหรัฐฯ หลายล้านคนต้องตกงานและนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน นอกจากนี้ ทรัมป์มองว่า การที่สินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้ามายังสหรัฐฯ เป็นการบั่นทอนภาคการผลิตและการจ้างงานของสหรัฐฯ จึงมีนโยบาย ที่จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 45% เช่นเดียวกับเม็กซิโก ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์จำนวนมาก ย้ายฐานการผลิตไปยังเม็กซิโก เพื่อผลิตและส่งออกกลับมายังสหรัฐฯ โดยใช้ประโยชน์จาก ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งทรัมป์มองว่าเป็นการทำลายภาคการจ้างงานของสหรัฐฯ จึงมีแนวคิดที่จะยกเลิก NAFTA และขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกเป็น 35% โดยทรัมป์แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในการต่อต้าน ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) เนื่องจากมองว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐฯ โดยประกาศว่าหากขึ้นเป็นประธานาธิบดี นอกจากจะพิจารณายกเลิกข้อตกลง NAFTA แล้วยังอาจยุติการเจรจา เขตการค้าเสรีอื่นๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)
นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของฮิลลารี คลินตัน แม้นโยบายเด่นที่ฮิลลารี คลินตัน นำมาใช้ ในการหาเสียงจะเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมเป็นหลัก อาทิ การเพิ่มสวัสดิการด้านหลักประกันสุขภาพ นโยบายด้านภาษีเพื่อกระจายรายได้จากคนรวยสู่คนจน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนโยบายต่อเนื่องจากสมัยประธานาธิบดี บารัค โอบามา ตามแนวคิดหลักของพรรคเดโมแครต อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของ นางคลินตัน แตกต่างจากนโยบายของประธานาธิบดีโอบามาพอสมควร โดยเฉพาะประเด็นข้อตกลง TPP ซึ่งนางคลินตันแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน แม้จะเคยเป็นหัวหอกสำคัญในการเจรจาข้อตกลงดังกล่าวในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศระหว่างปี 2552-2556 โดยคลินตันแสดงความเห็นระหว่างการหาเสียงว่า TPP ที่เจรจากันอยู่ในปัจจุบันแตกต่างไปจากแนวคิดเดิม และไม่ได้มีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมดีขึ้น นอกจากนี้ การหาเสียงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นางคลินตันแสดงท่าทีไม่พอใจกับการที่หลายประเทศใช้นโยบายเงินอ่อนค่าเพื่อกระตุ้นการส่งออก โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน ทำให้มีแนวคิดที่จะนำมาตรการทางภาษีมาใช้ตอบโต้ประเทศที่ใช้นโยบายค่าเงินอ่อนเพื่อกระตุ้นการส่งออกอีกทางหนึ่งด้วย
แม้ว่าจะต้องรอจนถึงเดือนพฤศจิกายนจึงจะทราบว่าประธานาธิดีคนใหม่ของสหรัฐฯ คือใคร และนโยบายต่างๆ ที่ใช้ในตอนหาเสียงจะถูกนำมาใช้จริงมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่พอจะมองเห็นได้ลางๆ คือ บริบทการค้าโลกกำลังจะเปลี่ยนไป การเจรจา FTA กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับประเทศตลาดหลักจะเกิดได้ยากขึ้น ขณะที่มาตรการทางการค้า ทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษีจะถูกนำมาใช้เพื่อตอบโต้กันมากขึ้น ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ภาคส่งออกของไทยสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนบนเวทีการค้าโลกภายใต้บริบทใหม่ของการค้าโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป คงหนีไม่พ้นการเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รวมถึงการเร่งพัฒนา R&D เพื่อยกระดับสินค้าไทย ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี แม้ว่าต้องใช้เวลา แต่ในระยะยาวจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยืนหยัดบนเวทีโลกได้อย่างแท้จริง ไม่ว่านโยบายของประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม
Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ธสน.
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--