คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ากระแส FinTech ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ลดทอนความสำคัญของระบบธนาคาร อาทิ การระดมทุนจากสาธารณชนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน (Crowdfunding) และการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคลโดยตรงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (P2P Lending) ซึ่งสร้างประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นแก่ผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็สร้างแรงกดดันต่อสถาบันการเงินในฐานะคู่แข่งที่ต้องจับตามอง ส่งผลให้สถาบันการเงินหลายแห่งต้องปรับตัวและหันมาใช้กลยุทธ์สร้างพันธมิตรกับธุรกิจ FinTech เพื่อลดการแข่งขันโดยตรงกับธุรกิจ FinTech ทั้งนี้ ท่ามกลางการปรับตัวของสถาบันการเงินภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว มีเทคโนโลยีทางการเงินอีกประเภทหนึ่งที่อาจช่วยให้สถาบันการเงินสามารถพลิกวิกฤตเป็นทางรอดในยุคดิจิทัล นั่นคือ “Blockchain” ซึ่งจุดประกายให้สถาบันการเงินหันมาตื่นตัว โดยเฉพาะภายหลังธนาคารขนาดใหญ่ของโลก อาทิ Santander (สหราชอาณาจักร) UBS AG (สวิตเซอร์แลนด์) UniCredit (อิตาลี) Bank of Tokyo Mitsubishi (ญี่ปุ่น) และ DBS Bank (สิงคโปร์) ประกาศว่าจะนำ Blockchain มาใช้ในระบบการโอนเงิน
Blockchain เป็นเทคโนโลยีทางการเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยให้สมาชิกที่อยู่ในระบบ (Platform) เดียวกันสามารถทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันได้โดยตรง อาทิ การโอนเงินไปยังสมาชิกอีกรายผ่าน Platform โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางดังเช่นการทำธุรกรรมทางการเงินในแบบปัจจุบันซึ่งมักผ่านสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ข้อมูลธุรกรรมดังกล่าวจะถูกเรียกว่า Block และจะถูกจัดเก็บไว้ในระบบต่อจาก Block อื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าคล้ายเป็นโซ่ (Chain) ที่เรียงต่อกัน และจะไม่สามารถแก้ไขข้อมูล Block เหล่านั้นในภายหลังได้ นอกจากนี้ สมาชิกที่เกี่ยวข้องใน Platform สามารถร่วมตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมที่เกิดความผิดปกติได้ ทำให้ธุรกรรมที่เกิดขึ้นมีความโปร่งใส
รูปแบบการทำงานของ Blockchain ซึ่งแตกต่างจากระบบการทำธุรกรรมทางการเงินในแบบดั้งเดิม ส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการทางการเงินในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งโดยทั่วไปมักดำเนินการผ่านสถาบันการเงินและบริษัทผู้ให้บริการระบบหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ใช้เวลานานกว่าเมื่อเทียบกับระบบ Blockchain ที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศผ่านระบบดิจิทัลได้โดยไม่มีตัวกลาง
2. ช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดความเสี่ยงในการทำธุรกรรมทางการเงิน การดำเนินการผ่านตัวกลางหลายแห่ง ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงและก่อให้เกิดข้อผิดพลาดในแต่ละขั้นตอนได้ง่าย รวมทั้งมีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมผ่าน Blockchain จะอยู่ที่ 0.01-0.05% ของมูลค่าธุรกรรม
3. ช่วยสร้างความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลธุรกรรมจะถูกเข้ารหัสไว้โดยเจ้าของธุรกรรมทำให้สมาชิกเครือข่ายรายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขข้อมูลธุรกรรมได้ รวมทั้งการโจมตีระบบโดย Hacker ยังกระทำได้ยาก เนื่องจากข้อมูล Block ที่ถูกเรียงต่อกันเป็นโซ่ยาวทำให้ Hacker ต้องใช้ระบบประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่และใช้เวลานานในการโจรกรรมเทียบกับระบบปัจจุบันที่ข้อมูลจะอยู่ที่ธนาคารเจ้าของธุรกรรม ทำให้มีโอกาสที่ถูกโจรกรรมได้ง่าย
4. ธุรกรรมที่เกิดขึ้นมีความโปร่งใส เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องและเป็นสมาชิกของเครือข่ายสามารถร่วมตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมในกรณีที่เกิดความผิดปกติหรือเกิดการโจรกรรมข้อมูล ต่างจากระบบการเงินในปัจจุบันที่สถาบันการเงินเป็นผู้จัดเก็บข้อมูลธุรกรรมและเป็นผู้ตรวจสอบแต่เพียงผู้เดียว
การกำเนิดขึ้นของ Blockchain ในช่วงแรกๆ สร้างแรงกดดันต่อระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากรูปแบบการทำงานของ Blockchain ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางอย่างสถาบันการเงินอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดมาสถาบันการเงินปรับกลยุทธ์รับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วยการพัฒนา Platform ที่ใช้รองรับ Blockchain ตลอดจนต่อยอด Blockchain ไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ เพื่อคงไว้ซึ่งบทบาทและความสำคัญในฐานะผู้ให้บริการทางการเงิน ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็ใช้จุดแข็งด้านความน่าเชื่อถือ รวมทั้งฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อขยายบทบาทของสถาบันการเงินในระบบ Blockchain นอกจากนี้ ล่าสุดสถาบันการเงินหลายแห่งยังร่วมกันพัฒนาและใช้ Platform เดียวกัน เพื่อลดข้อจำกัดในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกัน ดังจะเห็นได้จากการประกาศร่วมมือกันระหว่างสถาบันการเงินชั้นนำอย่าง Goldman Sachs (สหรัฐฯ) และ Barclays (สหราชอาณาจักร) รวมถึงการรวมกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและเทคโนโลยีทั่วโลกในนามกลุ่ม R3 เพื่อร่วมกันพัฒนา Blockchain และเทคโนโลยีทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งขณะนี้มีสถาบันการเงินกว่า 55 แห่งทั่วโลกเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม R3 แล้ว อาทิ Citi (สหรัฐฯ) Morgan Stanley (สหรัฐฯ) HSBC (สหราชอาณาจักร) Mitsubishi UFJ (ญี่ปุ่น) รวมถึงธนาคารกรุงเทพของไทย
บทบาทของ Blockchain ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงบริบทของสถาบันการเงินในโลกยุคใหม่เท่านั้น ทว่า Blockchain อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจโลก โดย World Economic Forum คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 Blockchain จะมีส่วนในการสร้าง GDP ของโลกราว 10% ขณะที่รัฐบาลอาจใช้ Blockchain ในการจัดเก็บภาษีแทนระบบเดิม อย่างไรก็ตาม Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ทำงานในโลกดิจิทัล ทำให้การทำงานของ Blockchain ตั้งอยู่บนแนวคิด “Transfer of Trust in a Trustless World” ดังนั้น ความท้าทายในการพัฒนาระบบ Blockchain คือ การทำให้ผู้ใช้บริการมีความเชื่อมั่นในระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้พัฒนาระบบต้องคำนึงถึง เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ระบบ Blockchain ต่อไปในอนาคต
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกันยายน 2559--