อิหร่าน.โอกาสและความท้าทายที่ยังรออยู่

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 10, 2016 15:41 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

หลังจากชาติมหาอำนาจตะวันตกบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านตั้งแต่ต้นปี 2559 และนำมาซึ่งการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้อิหร่านกลับมาได้รับความสนใจจากนานาชาติอีกครั้ง โดยเฉพาะโอกาสทางการค้าการลงทุนที่จะเปิดกว้างมากขึ้น ประกอบกับในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์และเมษายนที่ผ่านมา อิหร่านได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติและสภาที่ปรึกษาขึ้น โดยผลการเลือกตั้งล่าสุดพบว่าสมาชิกฝ่ายปฏิรูปที่สนับสนุนประธานาธิบดี Hassan Rouhani ได้รับคะแนนเหนือกว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยมซึ่งกุมอำนาจสูงสุดมาอย่างยาวนาน สถานการณ์ดังกล่าว ถูกจับตามองว่าอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้อิหร่านเปิดประเทศมากขึ้น และมีบทบาทมากขึ้นในหลายๆ ด้าน ดังนี้

  • บทบาทด้านเศรษฐกิจ หลังจากนานาชาติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ทำให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มขึ้น พลิกสถานการณ์จากที่เคยถูกหลายชาติในภูมิภาคเดียวกันแย่งตลาดไปในช่วง หลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตลาดยุโรปและเอเชีย นอกจากนี้ การที่อิหร่านมีประชากรกว่า 80 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 1 ในตะวันออกกลาง และประชากรกว่า 60% มีอายุต่ำกว่า 30 ปี สะท้อนถึงตลาดผู้บริโภคและตลาดแรงงานขนาดใหญ่ ปัจจัยดังกล่าวเป็นจุดเด่นที่ช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (FDI) ได้มาก โดยอิหร่านตั้งเป้าดึงดูด FDI ถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปี ทั้งในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน นอกจากนี้ ในด้านการค้า อิหร่านนับเป็นประเทศเนื้อหอมที่หลายประเทศอยากค้าขายด้วย จากอุปสงค์ในประเทศ ที่มีแนวโน้มขยายตัวดี โดยล่าสุดธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจอิหร่านจะเติบโตถึง 5.8% และ 6.7% ในปี 2559 และ ปี 2560 นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง
  • บทบาทด้านการเมือง ความสำเร็จในข้อตกลงนิวเคลียร์ สะท้อนถึงท่าทีที่ประนีประนอมมากขึ้นของอิหร่านต่อชาติตะวันตก หลังจากในช่วงก่อนหน้านี้อิหร่านมักมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีนักกับชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้สถานการณ์การเมืองในตะวันออกกลางผ่อนคลายลงบางส่วน ประกอบกับจะมีส่วน ทำให้ภาพลักษณ์ด้านการเมืองระหว่างประเทศของอิหร่านในสายตานานาชาติเริ่มดีขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ อิหร่านเองในการเจรจาทำข้อตกลงทางการค้าการลงทุนกับประเทศต่างๆ ในอนาคต
  • บทบาทใน OPEC ล่าสุดผลการประชุมกลุ่ม OPEC ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าสมาชิก ทั้ง 13 ประเทศยังไม่สามารถตกลงกันได้ในการควบคุมกำลังการผลิตเพื่อหนุนราคาน้ำมัน ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้ การประชุมไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากอิหร่านยังต้องการจะเพิ่มกำลังการผลิตให้กลับมาอยู่ระดับเดียวกับก่อน ถูกคว่ำบาตรที่ราว 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งล่าสุดอิหร่านสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ราว 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุด ในรอบ 3 ปี สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงบทบาทของอิหร่านในตลาดน้ำมันโลกและกลุ่ม OPEC ที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ การที่อิหร่าน อิรัก และซาอุดีอาระเบียซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกันราว 20% ของทั้งโลกยังคงเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิต อย่างต่อเนื่องถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังกดดันราคาน้ำมันในระยะถัดไป แม้ในช่วงสั้นๆ ราคาน้ำมันจะสามารถขยับขึ้น ได้บ้างจากปัจจัยชั่วคราว อาทิ ไฟไหม้แหล่งผลิตน้ำมันในแคนาดา การประท้วงในคูเวต ท่อขนส่งน้ำมันในไนจีเรีย ถูกโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย เป็นต้น แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานแล้ว อุปทานน้ำมันดิบที่ยังล้นตลาดกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้คาดว่าราคาน้ำมันคงไปไหนไม่ได้ไกลนัก และเป็นการยากที่ราคาน้ำมันจะกลับไปยืนเหนือ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเหมือนเช่นในอดีต
  • บทบาทของอิหร่านในด้านต่างๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจถือเป็นโอกาสของ ผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าหลายประเภท อาทิ สินค้าเกษตร อาหารและวัตถุดิบที่อิหร่านยังมีความต้องการอีกมาก เช่นเดียวกับโอกาสในการเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจกับอิหร่านยังมีข้อจำกัดอยู่ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหาทางออกเพื่อลดข้อจำกัดในด้านต่างๆ อันจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจไทยที่สนใจทำธุรกิจกับอิหร่าน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทย ที่สนใจจะทำการค้าการลงทุนกับอิหร่านควรติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อคว้าโอกาสได้ก่อนใคร เมื่อจังหวะเวลาที่เอื้ออำนวยมาถึง

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ