ก่อนวิกฤต Hamburger ในปี 2551 ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) เคยเป็นเครื่องมือสำคัญที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการส่งออกและการลงทุน ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2551 มี FTA ที่มีผลบังคับใช้รวมทั้งโลกทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคีราว 400 ฉบับ เพิ่มขึ้น 3 เท่า จากปี 2533 ที่มีเพียง 100 ฉบับ ส่งผลให้ FTA มีความซ้ำซ้อนและเกี่ยวพันกัน หรือที่มักเรียกกันว่า "Spaghetti Bowl" ซึ่งความตกลงที่เพิ่มขึ้นมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ปริมาณการค้าโลกในช่วงปี 2533-2550 ขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 9% ต่อปี อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดวิกฤต Hamburger ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจซบเซาถ้วนหน้า หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจในประเทศแทนการส่งออก ทำให้หลังจากปี 2551 เป็นต้นมาแทบไม่มี FTA ฉบับใหม่ๆ เกิดขึ้นเลย ในทางตรงกันข้ามแต่ละประเทศเริ่มหันมาใช้มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษีศุลกากร (Non-Tariff Measures : NTMs) เพิ่มมากขึ้น เพื่อคุ้มครองภาคการผลิตในประเทศ NTMs ที่มีมากขึ้นนับเป็นสาเหตุสำคัญที่ซ้ำเติมให้การค้าโลกตกอยู่ในภาวะซบเซา และทำให้หลังจากปี 2551 เป็นต้นมา ปริมาณการค้าโลกชะลอการขยายตัวลงเหลือเฉลี่ยเพียง 3% ต่อปี
ข้อมูลขององค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า ในปี 2558 มีการใช้ NTMs ถึงราว 10,000 มาตรการ เพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่า จากช่วงก่อนเกิดวิกฤต Hamburger ที่มี NTMs อยู่ราว 4,700 มาตรการ หากลองย้อนกลับมาพิจารณาการค้าของไทย พบว่าในปี 2558 การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจาก NTMs ของประเทศคู่ค้ารวมทั้งสิ้น 86 มาตรการ เพิ่มขึ้นราว 75% จากช่วงก่อนวิกฤต Hamburger ซึ่งมีเพียง 49 มาตรการ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ในอาเซียน พบว่า ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก NTMs สูงที่สุด กล่าวคือ ในปี 2558 อินโดนีเซียได้รับผลกระทบจาก NTMs จำนวน 64 มาตรการ มาเลเซีย 44 มาตรการ เวียดนาม 43 มาตรการ และสิงคโปร์ 13 มาตรการ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมีส่วนซ้ำเติมให้สินค้าไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ ในภูมิภาคนอกเหนือไปจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ นอกจากนี้ ผลสำรวจผู้ส่งออกไทยจำนวน 1,067 ราย โดย International Trade Center (ITC) และกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2556 พบว่า ราว 38% ของกลุ่มตัวอย่างได้รับผลกระทบจาก NTMs และหากแบ่งผลกระทบตามตลาดส่งออก พบว่า การส่งออกไปตลาดส่งออกหลักของไทยล้วนได้รับผลกระทบจาก NTMs ทั้งสิ้น อาทิ การส่งออกไป EU และ อาเซียน มีสินค้าที่ถูกปฏิเสธโดยมีเหตุจาก NTMs ราว 20% ของปริมาณส่งออกทั้งหมด ขณะที่การส่งออกไปจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ถูกปฏิเสธมากกว่า 5% ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า NTMs กำลังเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกของไทย
ทิศทางการค้าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป จากครั้งหนึ่งที่เคยเป็นยุคทองของ FTA ซึ่งมีส่วนผลักดันการค้าโลกให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดไปสู่ยุคแห่ง NTMs ที่ประเทศต่างๆ หันมาปกป้องผู้ผลิตในประเทศของตน แน่นอนว่าผู้ส่งออกไทยย่อมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากกลไกภาครัฐที่ต้องเจรจาเพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าจาก NTMs แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการเร่งปรับตัวของผู้ประกอบการไทยที่ควรหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งนอกจากจะช่วยผ่อนเบาผลกระทบจาก NTMs แล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย
Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ธสน.
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--