ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ในประเทศอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ทำให้ปัจจุบันมาเลเซียซึ่งเป็นตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ขนาดใหญ่ของอาเซียนกำลังบรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาการให้บริการภาครัฐผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า "e-Government" ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐของมาเลเซียสามารถให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมดภายในปี 2563 เมื่อถึงเวลานั้น ภาคธุรกิจในมาเลเซียจะสามารถเข้าถึงบริการของหน่วยงานภาครัฐรวมถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในมาเลเซียได้สะดวกขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาระบบ e-Government เป็นกลยุทธ์หนึ่งของมาเลเซียในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของนักลงทุนทั้งในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในมาเลเซีย
นอกจากสิงคโปร์แล้ว มาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เป็นต้นแบบของประเทศในอาเซียนที่เร่งพัฒนาระบบ e-Government โดยในปี 2539 มาเลเซียริเริ่มแนวคิดการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนารูปแบบการให้บริการของภาครัฐ ก่อนยกระดับเป็นแผนพัฒนาระบบ e-Government ในปี 2548 กระทั่งในปี 2558 ระบบ e-Government ของมาเลเซียได้รับการพัฒนามากขึ้นจนครอบคลุมการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐกว่าร้อยละ 60 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้
ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียยังคงเดินหน้าเพิ่มขอบเขตการให้บริการเป็นร้อยละ 90 ในปี 2559 นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดตั้งห้องปฏิบัติการพิสูจน์หลักฐานทางดิจิทัล (Digital Forensics Laboratory) ในปี 2560 และตั้งเป้าให้หน่วยงานภาครัฐ 19 แห่ง สามารถเปิดรับชำระเงินออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือภายในปี 2563 สำหรับรูปแบบการให้บริการของระบบ e-Government ในมาเลเซีย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามกลุ่มผู้รับบริการ คือ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ที่สำคัญ มีดังนี้
การเร่งพัฒนาระบบ e-Government ถือเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT ของมาเลเซียให้สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันมาเลเซียเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้าน IT ในระดับสูง สะท้อนได้จากการจัดอันดับความพร้อมด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Network Readiness Index: NRI) ของ World Economic Forum (WEF) ในปี 2558 มาเลเซียอยู่อันดับที่ 32 ของโลก (สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 1 และไทยอยู่อันดับที่ 67) จากการจัดอันดับทั้งหมด 143 ประเทศ ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคในตลาด e-Commerce ของมาเลเซียมีจำนวน 23 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 74 ของประชากรทั้งประเทศเป็นที่น่าสังเกตว่าการพัฒนาระบบ e-Government นอกจากจะเป็นการยกระดับความพร้อมด้าน IT ให้แก่มาเลเซียแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการเจาะตลาด e-Commerce ของมาเลเซียอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ระบบ e-Government ที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่เกื้อหนุนให้การดำเนินธุรกิจ e-Commerce ในมาเลเซียสะดวกขึ้น แต่การดำเนินธุรกิจ e-Commerce ในมาเลเซียให้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาโครงสร้างตลาดเพื่อให้ทราบถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวมาเลเซีย ช่องทางการเข้าถึงสินค้า สภาพการแข่งขัน และวิธีการชำระเงิน เพื่อกำหนดกลยุทธ์การตลาดและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสม กล่าวคือ
เป็นที่น่าสังเกตว่า สินค้าที่ชาวมาเลเซียส่วนใหญ่นิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เป็นสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เสื้อผ้าแฟชั่น อาหาร และเครื่องสำอาง โดยปัจจัยที่ชาวมาเลเซียใช้ประกอบการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ ได้แก่ ราคา คุณภาพ ความหลากหลาย และความทันสมัยของสินค้า ตลอดจนความปลอดภัยของระบบชำระค่าสินค้าและความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า ดังนั้น กลยุทธ์การตลาดและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจและแรงจูงใจให้เกิดการซื้อ คือ การเพิ่มความหลากหลายและความทันสมัยของสินค้า ขณะที่กลยุทธ์ด้านราคา โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายด้วยการลดแลกแจกแถม ยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคชาวมาเลเซียซึ่งมีความอ่อนไหวต่อราคาได้เป็นอย่างดี
สำหรับธุรกิจไทยที่มีโอกาสเจาะตลาด e-Commerce ของมาเลเซีย ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจจองตั๋ว ออนไลน์ (อาทิ สวนน้ำ และสวนสนุก) ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ (อาทิ การรักษาโรค และการศัลยกรรม) ส่วนสินค้าไทย ได้แก่ สินค้าอาหาร เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าธุรกิจดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ชาวมาเลเซียต้องเดินทางเข้ามาเพื่อรับบริการในประเทศไทย การใช้กลยุทธ์การสร้างพันธมิตรร่วมกับผู้ประกอบการในธุรกิจ e-Commerce ด้วยกันจะช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งภายในกลุ่มผู้ประกอบการไทย ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่ขายสินค้าออนไลน์สามารถใช้กลยุทธ์ผูกมิตรกับผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยและมาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ สำหรับสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยจำหน่ายผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ในมาเลเซียแล้ว ได้แก่ สินค้ากลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่นและเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น กลุ่มสินค้าเครื่องนอน ของตกแต่งบ้าน และเครื่องใช้ภายในบ้าน
ทั้งนี้ บทบาทที่เพิ่มขึ้นของ IT ในระบบเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ให้ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันเป็นผู้ที่รับข้อมูลตลอดเวลา อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงข้อมูลปริมาณมากได้โดยง่ายภายในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น ธุรกิจต่างๆ จึงจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับบริบททางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการแข่งขันในประเทศที่มีความพร้อมด้าน IT ในระดับสูงอย่างมาเลเซีย
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2559--