ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินหรือ FinTech ก่อให้เกิดบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวก ลดต้นทุน และสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวกลับถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังเห็นได้จากกรณีที่ Cybersecurity Ventures บริษัทวิจัยด้านความปลอดภัยของระบบไอทีชื่อดังของโลก รายงานว่าในปี 2558 อาชญากรรมในโลกไซเบอร์มีมูลค่าราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจนแตะระดับ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 ขณะที่ข้อมูลของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย (ThaiCERT) พบว่าในปี 2558 มีหน่วยงานในประเทศไทยถึง 81 องค์กรที่ถูกโจรกรรมข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มตั้งคำถามกับความปลอดภัยของบริการทางการเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งทั่วโลกต้องหันมาพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Biometrics” Biometrics มาจากคำว่า Bio ซึ่งแปลว่าสิ่งมีชีวิต และ Metric ซึ่งหมายถึงคุณลักษณะที่สามารถวัดได้ Biometrics คือ เทคโนโลยีที่ใช้คุณลักษณะของสิ่งมีชีวิตในการยืนยันตัวบุคคล อาทิ เสียง ลายนิ้วมือ ม่านตา เป็นต้น โดยจุดเด่นของเทคโนโลยีดังกล่าว คือมีความแม่นยำสูงมากในการระบุตัวตน สะท้อนจากอัตราการหลุดรอดของผู้แปลกปลอมจากการตรวจจับ (False Rejection Rate : FRR) อยู่ที่ 0.1% และอัตราการปฏิเสธการผ่านของผู้ใช้ที่ถูกต้อง (False Acceptance Rate : FAR) อยู่ที่ 0.001% ล่าสุดสถาบันการเงินหลายแห่งในต่างประเทศเริ่มใช้ Biometrics ในการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการแล้ว โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงและอัตราการเกิดอาชญากรรมสูงก็นิยมใช้ Biometrics ในการรักษาความปลอดภัยของการทำธุรกรรมทางการเงินเช่นกัน อาทิ แอฟริกาใต้ใช้ระบบ Biometrics สำหรับการทำธุรกรรมที่สาขาของธนาคาร ATMs จุดจำหน่ายสินค้า และการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยปัจจุบันมีระบบ Biometrics ที่ใช้การสแกนลายนิ้วมือกว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ และมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดังกล่าวสูงถึง 2.5 ล้าน รายการต่อเดือน ทั้งนี้ กระทรวงกิจการภายใน (Department of Home Affairs) ของแอฟริกาใต้ ประเมินว่า Biometrics จะช่วยป้องกันความเสียหายจากการโจรกรรมข้อมูลคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 322 ล้านแรนด์แอฟริกาใต้ หรือราว 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
หากพิจารณาพฤติกรรมในการทำธุรกรรมทางการเงินของคนไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่านิยมใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น โดยในปี 2558 ปริมาณการทำธุรกรรมผ่าน Internet Banking และ Mobile Banking ขยายตัวสูงถึง 8% และ 127% จากปีก่อน ตามลำดับ ประกอบกับหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล ได้แก่ นโยบาย National e-Payment ที่มีจุดมุ่งหมายในการผลักดันให้ไทยเป็น Cashless Society ที่ต้องมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการโจรกรรมข้อมูลมากกว่าการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบเดิม Biometrics จึงน่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเป็นลำดับในการรักษาความปลอดภัยสำหรับธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
ในระยะถัดไปการนำเทคโนโลยี Biometrics มาใช้ในการรักษาความปลอดภัยของภาคการเงินอาจกลายเป็นเครื่องมือขั้นพื้นฐานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ล่าสุดธนาคารพาณิชย์ของไทยก็กำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเช่นกัน และคาดว่าจะถูกนำมาใช้ในไม่ช้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบรักษาความปลอดภัยของภาคการเงินไทยให้แข็งแกร่งขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจเริ่มต้นด้านเทคโนโลยี (Tech Startup) ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นและเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ ควรให้ความสนใจในเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลซึ่งกำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลกยุคใหม่ เพื่อให้การเริ่มต้นธุรกิจประสบความสำเร็จและเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2559--