ความพยายามในการปฏิรูปประเทศสู่เส้นทางประชาธิปไตยของเมียนมาได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากขึ้นเป็นลำดับ นับตั้งแต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2559 สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกคำสั่งฉุกเฉิน (National Emergency) หรือมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งรวมถึงการถอดรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกองทัพของเมียนมาออกจากบัญชีบุคคลต้องห้าม หรือ Specially Designated Nationals and Blocked Persons (SDN) List ของสหรัฐฯ ยกเว้นบุคคล/นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดและค้าอาวุธ ตลอดจนการคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) หลังจากเมียนมาถูกถอนชื่อออกจากกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ์ GSP จากสหรัฐฯ เมื่อปี 2532 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2559 เป็นต้นไป นับเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนสู่เป้าหมายที่สหรัฐฯ ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเมียนมาในทุกมิติ รวมถึงการยกระดับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในเมียนมาให้เหมาะสม เพื่อเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศคืนสิทธิ์ GSP ให้แก่เมียนมา โดยเมียนมาถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least-Developed Beneficiary Developing Countries : LDBDCs) ซึ่งทำให้เมียนมาได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ กว่า 5,000 รายการ ทั้งนี้ ในปี 2558 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากเมียนมาเพียง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวร้อยละ 0.006 ของมูลค่านำเข้าสินค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ แต่เป็นที่คาดว่าภายหลังการคืนสิทธิ์ GSP ให้เมียนมาจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากเมียนมาสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อาหารแช่แข็ง (สัดส่วนร้อยละ 23 ของมูลค่านำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากเมียนมาทั้งหมด) เครื่องหนัง (ร้อยละ 20) และเครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 19) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ทั้งนี้ การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมาได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารในเมียนมาได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจลง โดยเฉพาะการโอนเงินระหว่างประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการไปยังเมียนมา ขณะเดียวกันการยกเลิกมาตรการดังกล่าวนับเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักลงทุนจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมามากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรมองข้ามโอกาสในการรุกตลาดเมียนมาในช่วงเวลาสำคัญนี้
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด