เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกในยุคปัจจุบันเป็นโลกที่หมุนเร็วกว่าในอดีตมาก บริบทในด้านต่างๆ ของโลกล้วนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การค้า รวมถึงภาคธุรกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังกล่าวเป็นทั้งโอกาสมหาศาลสำหรับผู้ที่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที แต่ในทางกลับกันก็ถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และเพื่อเป็นของขวัญต้อนรับปี 2560 ที่กำลังจะมาถึง EXIM BANK ขอนำเสนอ Trends หรือกระแสใหม่ๆ ของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือเห็นผลชัดเจน ในปี 2560 ไล่ตั้งแต่บริบทระดับภาพรวม (Macro) ลงมาถึงระดับย่อย (Micro) ในด้านธุรกิจและภาคการผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
หากพูดถึงบริบทด้านการค้าโลก Trends ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2560 และเชื่อว่าเราคงจะได้ยินได้ฟังกันบ่อยขึ้นตามสื่อต่างๆ ได้แก่
- กระแส Protectionism หรือการปกป้องทางการค้าที่ประเทศต่างๆ จะนำมาใช้กันมากขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้เริ่มมีความชัดเจนหลังจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนาย Donald Trump สามารถเอาชนะนาง Hillary Clinton ภายใต้นโยบายด้านเศรษฐกิจที่เรียกว่า Trumponomics ซึ่งค่อนข้างสุดโต่งภายใต้แนวคิด America First ที่เน้นปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นสำคัญ รวมถึงกรณี Brexit ที่อาจเรียกว่าเป็น UK First ได้เช่นกัน ซึ่งกระแส Protectionism ดังกล่าวจะทำให้แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศชะลอลง
- Investment-induced Trade หรือการใช้การลงทุนนำการค้า เพราะเมื่อการค้าโลกชะลอลงจากมาตรการปกป้องทางการค้าที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ ยุทธศาสตร์ด้านการค้าของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยจึงต้องเปลี่ยนตาม โดย Investment-induced Trade จะเน้นขยายการลงทุนและสร้างฐานการผลิตในต่างประเทศเพื่อเจาะตลาดและสร้างช่องทางการค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น
สำหรับบริบทด้านธุรกิจซึ่งเป็นระดับย่อยลงมา เราจะเห็นว่ารูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันมีปัจจัยเร้าสำคัญมาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและกระแสดิจิทัลที่แทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดย Trends ใหม่ๆ ทางด้านธุรกิจที่จะมาแรงในปี 2560 ได้แก่
- Online Marketplace หรือการค้ายุคใหม่ที่เน้นซื้อขายบนอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ซึ่งการค้าในรูปแบบดังกล่าวกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การซื้อขายสินค้าและบริการทางอินเทอร์เน็ตหรือที่เราเรียกกันว่า E-Commerce ของไทยในปี 2559 มีมูลค่าสูงถึง 40% ของมูลค่าซื้อขายสินค้าและบริการทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเกิน 50% ในอีกไม่ช้า
- FinTech หรือเทคโนโลยีทางการเงิน อาทิ Mobile/Internet Banking จะเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้นแทนการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบเดิม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ลดต้นทุนการดำเนินงาน และเตรียมเข้าสู่ Cashless Society ดังเช่น ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสวีเดนที่การชำระเงินราว 80% ทำผ่าน e-payment นอกจากนี้ สถาบันการเงินเริ่มนำ Biometrics ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ลักษณะจำเพาะของแต่ละบุคคล อาทิ เสียง และลายนิ้วมือมาใช้มากขึ้นในระบบตรวจสอบความปลอดภัยในการซื้อขายสินค้าและทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล
- Sharing Economy หรือการทำธุรกิจในรูปแบบของการแบ่งปันผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังมาแรงในขณะนี้ โดยผู้ที่มีทรัพยากรที่มากเกินจำเป็นหรือไม่ค่อยได้ใช้จะแบ่งปันให้กับผู้ที่ต้องการใช้ทรัพยากรดังกล่าวในช่วงเวลาหนึ่งผ่านระบบออนไลน์ อาทิ Uber (บริการรถ) Airbnb (ที่พัก) และ Kickstarter (ตัวกลางระดมทุน) ทั้งนี้ PwC บริษัทวิจัยชั้นนำคาดว่ามูลค่าธุรกิจ Sharing Economy ในปี 2568 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 200% เมื่อเทียบกับปี 2557
- Business Ecosystem หรือกลยุทธ์ในการผลิตสินค้าและบริการที่หลากหลาย และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสินค้าและบริการต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างครบวงจร ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครบถ้วน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีบริษัท Apple ที่ผลิตสินค้าและบริการหลายประเภท และสามารถเชื่อมโยงสินค้าแต่ละชนิดเข้าด้วยกัน ทั้งในแง่ของระบบปฏิบัติการและลักษณะการใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ จนลูกค้าส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกใช้สินค้าของ Apple หลายชนิดร่วมกัน ทั้ง iPod, iPhone, iPad และ MacBook
เช่นเดียวกับในภาคการผลิต เราจะเห็นกระแสการนำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น ทั้งนี้ Trends สำคัญที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทในภาคการผลิตสำหรับปี 2560 ได้แก่
- Robots, Drones and Automation จะถูกนำมาใช้มากขึ้นในกระบวนการผลิต เพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการผลิต อาทิ หุ่นยนต์ผลิตสินค้าของ Nike โดรนที่ใช้สำรวจคลังสินค้า รวมทั้งระบบวิเคราะห์และผลิตสินค้าอัตโนมัติที่ใช้ในโรงงาน โดยล่าสุด Foxconn (ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก) ประกาศนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในโรงงานและปรับลดแรงงานลง 50% ทั้งนี้ แนวโน้มการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิตรวมถึงใช้ในชีวิตประจำวันจะสูงมากขึ้นจากนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าอยู่ในขณะนี้
- Innovating to Zero หรือแนวคิดในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตและสอดคล้องไปกับกระแสความห่วงใยในสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันดังจะเห็นได้จากแอพพลิเคชั่น 123Recycle ของสิงคโปร์ ซึ่งเมื่อผู้ใช้สินค้านำบาร์โค้ดบนหีบห่อสินค้ามาสแกน แอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะแสดงข้อมูลว่าชิ้นส่วนใดบ้างของสินค้าที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้
นอกจากนี้ หากมองในระดับผู้บริโภค เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นเดียวกับวิถีชีวิตและลักษณะของประชากรที่เปลี่ยนไป โดย Trends ของผู้บริโภคที่จะมาแรงในปี 2560 ได้แก่
- Smart Lifestyle เมื่อยุคแห่งสังคมเมือง (Urbanization) กำลังเติบโตขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันต้องเร่งรีบมากขึ้น การนำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในด้านต่างๆ จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งการสั่งอาหารผ่านระบบออนไลน์ การอ่านนิตยสารหรือหนังสือในรูปแบบ E-Book การเรียกรถโดยสารผ่านแอพพลิเคชั่น หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนบ้านธรรมดาๆ ให้กลายเป็นบ้านอัจฉริยะที่เราสามารถควบคุมอุปกรณ์ทุกอย่างในบ้านผ่าน Smartphone และ Tablet ได้ทุกที่ ทุกเวลา ตัวอย่างเช่น เราสามารถสั่งเปิดปิดและควบคุมเครื่องปรับอากาศ หลอดไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เครื่องให้อาหารสัตว์อัตโนมัติ รวมทั้งกล้องวงจรปิดผ่านแอพพลิเคชั่นได้แม้เราไม่อยู่บ้าน
- Elderly Care Products สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น อาทิ ระบบไฟส่องสว่างอัตโนมัติที่จะส่องสว่างโดยทันทีเมื่อผู้สูงอายุลุกขึ้นจากเตียง ทำให้ผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบากไม่จำเป็นต้องเอื้อมมือไปยังสวิตช์ไฟอีกต่อไป
จะเห็นได้ว่า Trends มาแรงสำหรับปี 2560 นี้ บางเรื่องอาจอยู่ใกล้ตัวมากกว่าเราที่คิด และ Trends เหล่านี้อาจเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงสำหรับเราในเวลาเดียวกัน เราจึงควรเตรียมพร้อมรับมือกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะยิ่งเราก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเท่าไร เราก็จะสามารถคว้าโอกาสได้ก่อนใครมากขึ้นเท่านั้น
การที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างสิ้นเชิง และผลักดันให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่การค้าในโลกยุคดิจิทัล ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า Online Marketplace หรือที่เรารู้จักกันในรูปแบบของ E-Commerce ซึ่งเป็นกระแสที่กำลังมาแรงทั่วโลกรวมถึงไทย ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่ทำการสำรวจมูลค่าตลาด E-Commerce ในประเทศไทยโดยการสำรวจผู้ประกอบการกว่า 5 แสนราย พบว่า ในปี 2559 มูลค่า E-Commerce อยู่ที่ราว 2.52 ล้านล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ย 48% ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาและคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของมูลค่าการค้าสินค้าและบริการทั้งหมดของผู้ประกอบการกลุ่มสำรวจ ซึ่งกระแสดังกล่าวกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าส่งค้าปลีกอย่างสิ้นเชิง
ขณะเดียวกัน E-Commerce ยังก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ โดยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศผ่านช่องทาง E-Commerce หรือที่เรียกกันว่า Cross-border E-Commerce เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย Alibaba ผู้ประกอบการ E-Commerce รายใหญ่ของโลกคาดว่า Cross-border E-Commerce ทั่วโลกในปี 2559 จะมีมูลค่าราว 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากปี 2558 และคาดว่ามูลค่า Cross-border E-Commerce จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 หรือคิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ยราว 25% ต่อปี สวนทางกับภาวะการค้าโลกที่กำลังอยู่ในช่วงซบเซา
การที่ Cross-border E-commerce ก้าวเข้ามามีบทบาทต่อการค้าระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นดังกล่าว ทำให้รูปแบบของธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้ง Value Chain อาทิ
- ภาคการผลิต กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตจาก Mass Production หรือการผลิตสินค้าชนิดเดียวปริมาณมากเพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง ไปสู่รูปแบบการผลิตแบบ Mass Customization ที่เน้นการผลิตสินค้าที่เฉพาะเจาะจงตามความต้องการของลูกค้าและผลิตสินค้าที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ ขนาด สี รวมถึงฟังก์ชั่นการใช้งาน เนื่องจาก Cross-border E-Commerce ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบสินค้าจากผู้ผลิตทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและเลือกซื้อสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตนเองได้ง่ายขึ้น
- ธุรกิจขนส่งสินค้า จากภาวะการค้าโลกที่กำลังซบเซา ทำให้ธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ โดยเฉพาะเรือคอนเทนเนอร์ที่เน้นขนส่งสินค้าปริมาณมากกำลังประสบปัญหา ดังเช่นที่มีข่าวการล้มละลายของบริษัทสายการเดินเรือยักษ์ใหญ่ของโลกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สวนทางกับธุรกิจขนส่งทางอากาศ รวมถึงธุรกิจบริการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Courier Service) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วตามการเติบโตของ Cross-border E-Commerce ที่มักเป็นการซื้อสินค้าปริมาณไม่มาก และผู้บริโภคเน้นความรวดเร็วและปลอดภัยในการขนส่งเป็นหลัก
- ตัวกลางทางการค้า ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าโลก ได้แก่ Trading Company ซึ่งทำธุรกิจในลักษณะซื้อมาขายไป แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกซบเซาในปัจจุบัน ทำให้ Trading Company จำนวนมากต้องประสบปัญหา แต่ด้วยการเติบโตของ E-Commerce ทำให้เกิดตัวกลางทางการค้ารูปแบบใหม่ในการเป็น Platform Provider ซึ่งก็คือเว็บไซต์ E-Commerce ต่างๆ ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวเข้ามามีอิทธิพลในโลกการค้ายุคปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย แม้มูลค่า E-Commerce จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายสินค้าภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ Cross-border E-Commerce ยังมีไม่มากนัก ซึ่งจากผลสำรวจของ ETDA พบว่า Cross-border E-Commerce ของประเทศไทยในปี 2558 มีสัดส่วนเพียง 7% ของมูลค่า E-Commerce ทั้งประเทศ ซึ่งถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่า Cross-border E-Commerce รวมทั้งโลกซึ่งมีสัดส่วนราว 20% ของมูลค่าตลาด E-Commerce ทั้งหมด ดังนั้น Cross-border E-Commerce จึงถือเป็นความท้าทายและเป็นอีกช่องทางสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออกในการขยายตลาดส่งออกเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการส่งออกในรูปแบบเดิมที่กำลังซบเซา
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม 2559--