Share โลกเศรษฐกิจ: นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของนายทรัมป์…โอกาสและความท้าทายของไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 28, 2016 14:05 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีเรื่องพลิกความคาดหมายที่ทั่วโลกต่างกล่าวถึง นั่นคือ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรครีพับลิกันสามารถเอาชนะนางฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ส่งผลให้นายทรัมป์จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 ในวันที่ 20 มกราคม 2560 ท่ามกลางความกังวลของทั่วโลกเกี่ยวกับนโยบายที่ค่อนข้างสุดโต่งภายใต้หลักคิด "America First" หรือสหรัฐฯ ต้องมาก่อน ที่เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน การยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP*) ตลอดจนทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารงานของนายทรัมป์

จะเป็นอย่างไร นับเป็นประเด็นที่น่าสนใจและควรติดตามอย่างใกล้ชิด "Share โลกเศรษฐกิจ" ฉบับนี้ขอนำเสนอโอกาสที่จะเกิดขึ้นของนโยบายดังกล่าว ตลอดจนผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อไทย ดังนี้

การยกเลิก TPP

การเจรจาข้อตกลง TPP เกิดขึ้นภายใต้การผลักดันของประธานาธิบดีบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต ซึ่งนายทรัมป์ประกาศว่าจะยกเลิกการเจรจา TPP มาโดยตลอดทั้งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งและหลังชนะการเลือกตั้ง

การยกเลิก TPP จะส่งผลดีต่อไทย จากการที่จะช่วยปิดจุดอ่อนข้อเสียเปรียบของไทยภายใต้กรอบการค้าเสรีดังกล่าวที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมการเจรจาตั้งแต่แรก ขณะที่จะทำให้เวียดนามไม่ได้แต้มต่อในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ตามที่มีการคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่ม ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยยังได้สิทธิ์ GSP จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้แข่งขันกับเวียดนามในสินค้าหลายรายการ เช่น เครื่องปรับอากาศ และถุงมือยาง นอกจากนี้ ธุรกิจที่เตรียมเข้าไปหรือเข้าไปลงทุนในเวียดนามหรือประเทศสมาชิก TPP เพื่อหวังจะใช้ประโยชน์จาก TPP จำเป็นต้องพิจารณากลยุทธ์การลงทุนใหม่ เนื่องจากจะไม่ได้แต้มต่อจากความตกลง TPP เช่นเดิมแล้ว

โอกาสเกิด : สูงมาก

นายทรัมป์แถลงว่าจะประกาศเจตนารมณ์ถอนตัวออกจาก TPP

นับตั้งแต่วันแรกที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากมองว่าเป็นข้อตกลงที่สหรัฐฯ

เสียเปรียบทางเศรษฐกิจและกระทบต่อการจ้างงาน ขณะที่เสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรส

มาจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งไม่สนับสนุน TPP เช่นกัน

การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนายทรัมป์ชูนโยบายการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงสุด 45% เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศและรักษาผลประโยชน์ของแรงงานอเมริกัน รวมทั้งจะประกาศให้จีนเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงิน เพื่อเปิดทางให้สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการตอบโต้จีน โดยหากมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจริงก็มีแนวโน้มจะส่งผลต่อสินค้าไทยทั้งทางบวกและทางลบ ดังนี้

  • สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกับจีน โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่สินค้าจีนที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีในตลาดสหรัฐฯ อาจใช้การลดราคาเพื่อระบายสินค้าไปยังประเทศอื่นแทน ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยที่จีนเป็นคู่แข่งสำคัญ อาทิ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ และเหล็ก เป็นต้น
  • สินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการทำตลาดสหรัฐฯ และมีจีนเป็นคู่แข่งสำคัญ อาทิ ยางล้อรถยนต์และเครื่องปรับอากาศ คาดว่าจะได้รับผลดีในการทำตลาดสหรัฐฯ เมื่อจีนเริ่มเผชิญข้อจำกัดด้านภาษี

มีข้อสังเกตว่า ผู้ประกอบการยางล้อรถยนต์จากจีนเริ่มมีการขยายการลงทุนมายังไทยผ่านการร่วมทุนกับนักลงทุนไทย ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้ายางล้อรถยนต์ของไทยถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากสหรัฐฯ ในการพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) หากมียอดส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเป็นแหล่งนำเข้ายางล้อรถยนต์อันดับ 3 ของสหรัฐฯ มีสัดส่วนราว 10.5% ของมูลค่านำเข้าสินค้าดังกล่าวทั้งหมดของสหรัฐฯ

โอกาสเกิด : ค่อนข้างต่ำ
  • ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่มีอำนาจโดยตรงในการเสนอปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้า รวมทั้งไม่มีอำนาจในการกำหนดให้ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน เนื่องจากกฎหมาย Trade Facilitation and Trade Enforcement Act (TFTE) ของสหรัฐฯ ให้อำนาจกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในการพิจารณาว่าประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ประเทศใดที่บิดเบือนค่าเงินเพื่อประโยชน์ทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยจะพิจารณาตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำหนด 3 ประการ และจะมีการรายงานผลการพิจารณาต่อสภาคองเกรสเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ประเทศที่จะถูกพิจารณาให้เข้าข่ายบิดเบือนค่าเงินต้องเข้าเกณฑ์ทั้งหมด 3 ข้อ
  • จากรายงาน Foreign Exchange Policies of Major Trading Partners of The United States เดือนเมษายน 2559 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่าจีนเข้าเกณฑ์ 2 ข้อ คือ ข้อ 1 และ 2 โดยในปี 2558 จีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงถึง 365.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP เท่ากับ 3.1% อย่างไรก็ตาม จีนหลุดเกณฑ์ข้อ 3 เนื่องจากปัจจุบันเงินหยวนมีทิศทางอ่อนค่า ทำให้จีนมีการขายเงินตราต่างประเทศสุทธิ 3.9% ของ GDP ซึ่งเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับเกณฑ์ของสหรัฐฯ เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวน
  • สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนถึง 22% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด หากมีการขึ้นภาษีตามนโยบายดังกล่าว จะทำให้ราคาสินค้านำเข้าจากจีนสูงขึ้นจนกระทบต่อผู้บริโภค และส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
เกณฑ์ที่ใช้พิจารณาประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน

1) ประเทศคู่ค้าเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 0.1% ของ GDP สหรัฐฯ)

2) ประเทศคู่ค้ามียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 3% ของ GDP ประเทศนั้น

3) ประเทศคู่ค้าที่ธนาคารกลางเข้าแทรกแซงค่าเงินด้วยการซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิมากกว่า 2% ของ GDP ประเทศนั้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวมุ่งส่งสัญญาณเตือนมากกว่าจะดำเนินการตอบโต้ เนื่องจากหากประเทศคู่ค้าไม่ต้องการถูกระบุว่าบิดเบือนค่าเงินก็สามารถลดระดับการแทรกแซงค่าเงินเพื่อไม่ให้เข้าเกณฑ์ดังกล่าวได้

แนวทางที่เป็นไปได้ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมีแนวโน้มทำผ่านการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (AD&CVD) ในหลายหมวดสินค้าที่มากขึ้น

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นายทรัมป์เสนอนโยบายทั้งการเพิ่มการใช้จ่ายและลดภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ และกระตุ้นกำลังซื้อของชาวอเมริกัน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้เติบโตเฉลี่ย 4% ต่อปีในวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี (ปี 2560-2563)

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญ
  • ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้วยงบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 10 ปีข้างหน้า
  • ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% เหลือ 15% เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน/การย้ายฐานการผลิตของบริษัทขนาดใหญ่กลับสู่สหรัฐฯ
  • ลดภาษีกลุ่มผู้มีรายได้ระดับปานกลางเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายใต้ Middle Class Tax Relief And Simplification Act
  • ผ่อนปรนข้อจำกัดในการลงทุนของโครงการสำรวจและผลิตพลังงาน ทั้งน้ำมัน Shale Oil ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินสะอาด เพื่อส่งเสริมการลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง
กลุ่มสินค้าไทยที่จะได้รับประโยชน์
  • สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ และสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทย (สัดส่วนเทียบกับมูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทย) ที่สำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (30%) เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ (37%) เครื่องนุ่งห่ม (36%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (23%) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (38%) เป็นต้น
  • กลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการทำตลาดสหรัฐฯ เช่น ยางล้อรถยนต์ และกลุ่มของใช้เพื่อการอนามัยหรือเภสัชภัณฑ์ที่ทำด้วยยาง โดยเฉพาะถุงยางอนามัย ถุงมือทางการแพทย์ และหลอดสำหรับฉีดยา ซึ่งไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของสหรัฐฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2560 อาจขยายตัวได้ไม่ถึง 4% จากปัจจัยบั่นทอนหลายประการ โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีทิศทางแข็งค่า ซึ่งจะบั่นทอนภาคส่งออกของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ข้อจำกัดด้านการคลังจากหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่สูงราว 100% ของ GDP อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.3% ในปี 2560 และ 3% ในปี 2561 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2548 จากที่ประมาณการว่าจะขยายตัว 1.5% ในปี 2559 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีขึ้น จะส่งผลให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น อีกทั้งนโยบายลดภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนและการสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจพลังงานหลัก ยังเป็นโอกาสในการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในธุรกิจสำรวจและผลิตพลังงานในสหรัฐฯ

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่านโยบายเศรษฐกิจและการค้าของนายทรัมป์ส่งผลต่อไทยทั้งในมิติของโอกาสและผลกระทบทางลบซึ่งเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในการปรับกลยุทธ์เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากการที่นายทรัมป์จะสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ได้อย่างที่หาเสียงไว้หรือไม่ ยังเป็นประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

  • ประกอบด้วยสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม แคนาดา เม็กซิโก และญี่ปุ่น

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ