รู้ลึก AEC: การปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติของเวียดนาม…โอกาสของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 28, 2016 14:10 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

รัฐบาลเวียดนามประกาศใช้แผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 7 (Power Development Plan VII : PDP7) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงและการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และการเปิดเสรีตลาดพลังงาน ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2559 รัฐบาลเวียดนามได้ปรับปรุงแผนฯ ดังกล่าวและประกาศใช้แผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 7 ฉบับปรับปรุง (PDP7 Revised) ปี 2559-2563 และวิสัยทัศน์สู่ปี 2573 ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างจากแผนฯ ฉบับเดิมโดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อทดแทนพลังงานหลักของประเทศ โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

วัตถุประสงค์หลักของแผนฯ ฉบับปรับปรุง

แผนฯ ฉบับปรับปรุงมีการทบทวนวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลเวียดนามที่ตั้งเป้าให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวเฉลี่ย 7% ต่อปีในช่วงปี 2559-2573 ดังนี้

  • เพิ่มปริมาณไฟฟ้าทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า จาก 265-278 พันล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2563 เป็น 400-431 พันล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2568 และ 572-632 พันล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2573
  • เพิ่มสัดส่วนปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เป็น 7% ในปี 2563 และมากกว่าร้อยละ 10 ในปี 2573 เทียบกับแผนฯ ฉบับเดิมที่ 4.5% ในปี 2563 และ 6% ในปี 2573
  • เร่งดำเนินโครงการนำไฟฟ้าเข้าสู่พื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล โดยตั้งเป้าหมายให้ครัวเรือนในชนบทเกือบทั้งหมดสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ภายในปี 2563
  • เพิ่มเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าที่ควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่การส่งไปจนถึงการจ่ายไฟฟ้า รวมทั้งเร่งพัฒนาสถานีไฟฟ้าที่ไม่มีผู้ควบคุมประจำ (Unmanned Substations) และสถานีไฟฟ้าที่ใช้ระบบอัตโนมัติร่วมกับคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจ่ายไฟฟ้า
โครงสร้างของแหล่งพลังงานที่นำมาผลิตไฟฟ้า

เป็นที่น่าสังเกตว่า แผนฯ ฉบับปรับปรุงยังคงมุ่งเน้นความสมดุลของการพัฒนาแหล่งพลังงานในแต่ละพื้นที่ของประเทศตามแผนฯฉบับเดิม เพื่อให้มั่นใจว่าทุกพื้นที่มีแหล่งพลังงานอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานประเภทต่างๆ พบว่าถ่านหินยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้าในเวียดนาม แต่แผนฯ ฉบับปรับปรุงมีการปรับลดสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานดังกล่าว รวมถึงพลังงานก๊าซธรรมชาติ พลังงานไฟฟ้านำเข้า และพลังงานนิวเคลียร์ ลงจากแผนฯ ฉบับเดิม ขณะที่มีการเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเป็น 21% ของแหล่งพลังงานทั้งหมดในปี 2573 ส่งผลให้พลังงานหมุนเวียนจะเป็นแหล่งพลังงานหลักอันดับ 2 ของเวียดนามในอนาคต แซงหน้าแหล่งพลังงานสำคัญอื่นๆ เช่น พลังงานน้ำและพลังงานก๊าซธรรมชาติ

พลังงานหมุนเวียน...แหล่งพลังงานที่รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ

ภายใต้แผนฯ ฉบับปรับปรุง รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ กับการพัฒนาแหล่งพลังงานจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานชีวมวล พร้อมทั้งมีนโยบายเร่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งนี้ แผนฯ ฉบับปรับปรุงมีการกำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นครั้งแรก และตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบก้าวกระโดดจาก 850 เมกะวัตต์ในปี 2563 เป็น 12,000 เมกะวัตต์ในปี 2573 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และเป็นที่คาดว่าในอนาคตพลังงานแสงอาทิตย์จะมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานของเวียดนาม

รัฐบาลเวียดนามประมาณการว่า การดำเนินโครงการด้านพลังงานภายใต้แผนฯ ฉบับปรับปรุงต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 148 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่รวมโครงการ Build-Operate-Transfer) โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2559-2563 แบ่งเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ 75% ส่วนที่เหลืออีก 25% เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า และจะใช้เงินลงทุนอีกราว 108 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2564-2573 แบ่งเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิตไฟฟ้าและเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าในสัดส่วนที่เท่ากับการลงทุนในช่วงปี 2559-2563 ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่าเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากการลงทุนจากต่างประเทศซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามพยายามผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจพลังงาน รวมถึงการเสนอสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเวียดนามมากขึ้น ล่าสุดรัฐบาลเวียดนามอนุมัติร่างสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามเสนอ เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจดังกล่าว จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่มีความพร้อมในการเข้าไปขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมากในเวียดนาม

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม 2559--


แท็ก เวียดนาม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ