ธุรกิจบริการ...ดาวรุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 25, 2016 14:04 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ท่ามกลางบริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของหลายประเทศ รวมถึงไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่หดตัวต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน และไม่อาจเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยดังเช่นในอดีต อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่การส่งออกสินค้ากำลังปรับโครงสร้างสู่การส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง นั่นคือ "การส่งออกบริการ" ที่ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา แม้การส่งออกของภาคบริการมีสัดส่วนเพียง 15% ต่อ GDP แต่กลับมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Contribution to Growth) ในปี 2558 ถึง 2.2% จากอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยโดยรวม 2.8% กล่าวได้ว่าการส่งออกบริการเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ "จิ๋วแต่แจ๋ว (Small but Powerful)"

การส่งออกบริการที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น หากพิจารณารายละเอียดพบว่าภาคการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้หลักในการส่งออกบริการของไทย ด้วยสัดส่วนกว่า 70% ของมูลค่าส่งออกบริการรวม และมีอัตราขยายตัวเฉลี่ย 13% ต่อปี ในช่วงปี 2554-2558 ขณะที่ในปี 2558 ไทยมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 5 ของโลกและอันดับ 2

ของเอเชียรองจากจีน สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวไทย อย่างไรก็ตาม นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว ยังมีภาคบริการในหมวดอื่นๆ ที่ไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก อาทิ ภาคก่อสร้างและบริการด้านธุรกิจและวิชาชีพ ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกภาคบริการในหมวดดังกล่าวของไทยขยายตัวเฉลี่ยราว 4.7% และ 6.9% ต่อปี ตามลำดับ สูงกว่ามูลค่าส่งออกทั้ง 2 หมวดของโลกที่ขยายตัวเฉลี่ย -0.8% และ 3.8% ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ไทยเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศ CLMV ที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาประเทศและยังต้องพึ่งพาบริการที่เกี่ยวข้องจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพสูงในการแข่งขัน

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไทยมีมูลค่าส่งออกไม่สูงนักแต่มีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะบริการด้านวัฒนธรรมและนันทนาการ ที่แม้ปัจจุบันมูลค่าส่งออกของไทยในหมวดดังกล่าวมีสัดส่วนเพียง 0.1% ของมูลค่าส่งออกบริการรวม และอัตราการขยายตัวติดลบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ผู้เขียนเห็นว่าไทยมีความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากไทยมีศิลปวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและบุคลากรในด้านดังกล่าวที่มีคุณภาพ ประกอบกับการท่องเที่ยวที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสดีหากสามารถต่อยอดจากภาคการท่องเที่ยวไปสู่การส่งออกศิลปวัฒนธรรมและนันทนาการ และถือเป็นอีกภาคบริการหนึ่งที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ดังเช่นประเทศเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ในการผลักดันการส่งออกบริการในหมวดวัฒนธรรมและนันทนาการ โดยมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยราว 30% ต่อปี และทำให้ศิลปวัฒนธรรมของเกาหลีใต้มีชื่อเสียงไปทั่วโลก นอกจากนี้ บริการที่ควรสนับสนุนในระยะยาว ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญาลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร รวมถึงดิจิทัล ซอฟต์แวร์และคอนเทนต์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และประเทศพัฒนาแล้วเกือบทุกประเทศใช้เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนภาคบริการ ทั้งนี้ แม้การสร้างให้เกิดธุรกิจบริการในหมวดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา แต่ถือเป็นกลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศไทย 4.0 ที่มุ่งสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ตามแนวนโยบายของภาครัฐในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน

การส่งออกบริการจะเป็นหนึ่งใน Engine of Growth ที่สำคัญในช่วงของการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ซึ่งนอกเหนือจากการท่องเที่ยวที่เป็นหัวหอกหลักของภาคบริการไทยมาอย่างยาวนานแล้ว ยังมีธุรกิจบริการอื่นๆ ที่มีศักยภาพและแนวโน้มเติบโตดี ที่จะช่วยเสริมภาคบริการโดยรวมของไทยให้แข็งแกร่งและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ