ส่องแนวทางฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมของญี่ปุ่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 26, 2016 14:36 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

หากกล่าวถึงประเทศญี่ปุ่น หลายคนคงจะนึกถึงประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและผู้นำด้านอุตสาหกรรมของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทคไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งต้องแลกมาด้วยความตกต่ำของภาคเกษตรกรรม ไม่ว่าจะด้วยการเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง เนื่องจากคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะทำงานในภาคเกษตรกรรม ทำให้ปัจจุบันแรงงานในภาคเกษตรกรรมของญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ด้วยอายุเฉลี่ยสูงถึง 66 ปี ขณะเดียวกัน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีพื้นที่เกษตรถูกทิ้งร้างเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ความไม่สมดุลระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมดังกล่าว ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว ทำให้ในปี 2557 นายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ได้ประกาศแผนฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมของญี่ปุ่นครั้งใหญ่ ภายใต้แนวคิดที่เรียกว่า "อุตสาหกรรมขั้นที่ 6 (Sixth-Industry)" ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของธนูดอกที่ 3 (Third Arrow) ตามนโยบาย Abenomics

หนึ่งในเป้าหมายหลักของ Sixth Industry คือการเพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกรให้ได้ 2 เท่าภายใน 10 ปี โดยใช้นโยบายหลักในการสร้างห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) เพื่อเชื่อมโยงอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำไปจนถึงผู้บริโภค โดยจะมุ่งเน้นผลักดันให้เกษตรกร หันมาแปรรูปสินค้าเกษตร รวมถึงทำการตลาดด้วยตนเองหรืออาจเป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เดียวกัน เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร อันจะช่วยให้เกษตรกรสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตนเอง โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ 1) สนับสนุนด้านการเงิน โดยให้เงินกู้เพื่อพัฒนาการเกษตรโดยไม่คิดดอกเบี้ย วงเงิน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อคน หรือ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งกลุ่มเกษตรกร 2) สนับสนุนด้านการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างและพัฒนานวัตกรรมการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปแบบใหม่ๆ โดยจัดตั้ง Agriculture, Forestry and Fisheries Fund Corporation for Innovation, Value-Chain and Expansion Japan (A-FIVE) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนการทำ R&D ที่เน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการเกษตรและเกษตรแปรรูป รวมถึงยกระดับประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรโดยนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย อาทิ การใช้หุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ เป็นต้น

นอกเหนือจากการยกระดับสินค้าเกษตร รัฐบาลญี่ปุ่นยังวางแผนในการขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร โดยมีกลยุทธ์สำคัญคือการเผยแพร่วัฒนธรรมการรับประทานอาหารญี่ปุ่นและสินค้า Made in Japan ไปยังต่างประเทศ ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ 1) ผ่อนคลายเงื่อนไขการขอ VISA สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการมาเรียนทำอาหารญี่ปุ่น 2) จัดสัมมนาเพื่อเชิญเชฟชื่อดังระดับโลกมาเรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบอาหารญี่ปุ่น และเปิดหลักสูตรสอนทำอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศผ่านโรงเรียนสอนทำอาหาร Le Cordon Bleu ในฝรั่งเศส วิทยาลัยดุสิตธานีในไทย เป็นต้น 3) ขยายตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ อาทิ การสร้างความร่วมมือและสนับสนุนร้านอาหารในเครือ Golden Jaguar ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจร้านอาหารยักษ์ใหญ่ในจีนให้เพิ่มเมนูอาหารญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งหลังจากที่ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายดังกล่าว การส่งออกสินค้าเกษตรของญี่ปุ่นเริ่มกระเตื้องขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2558 มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรของญี่ปุ่นขยายตัวราว 20% สูงสุดในรอบ 60 ปีสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในช่วงซบเซา

สำหรับประเทศไทย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเกษตรกรรมมีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก ด้วยจำนวนแรงงานในภาคเกษตรกรรมที่สูงถึง 60% ของแรงงานทั้งหมด ประกอบกับมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่มีสัดส่วนราว 15% ของมูลค่าส่งออกรวม ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้น แนวทางการฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมของญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรควบคู่ไปกับการขยายตลาดส่งออกผ่านช่องทางของการเผยแพร่วัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก จึงถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจในการนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทยต่อไป

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ