ปี 2559 ที่เพิ่งผ่านไป ถือเป็นอีกปีหนึ่งที่ภาคส่งออกของไทยต้องเผชิญกับความยากลำบาก จากปัจจัยบั่นทอนหลายประการที่ถาโถมเข้ามาตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ รวมถึงการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ แม้สถานการณ์การส่งออกของไทยตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2559 จะเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ซึ่งนับว่าดีกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเกือบทุกประเทศที่ส่วนใหญ่มูลค่าส่งออกยังหดตัวในระดับสูงกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และจีน แต่สำหรับการส่งออกในปี 2560 ยังคงมีความท้าทายหลายประการรออยู่ โดยเฉพาะสถานการณ์ในต่างประเทศที่กำลังจะมีหลายเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ซึ่งล้วนกระทบต่อทิศทางการค้าโลกและย่อมส่งผลต่อเนื่องมาถึงภาคส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผู้ส่งออกต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้
นโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2560 โดยเฉพาะนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศที่กำลังสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายเป็นอย่างมากถึงการดำเนินนโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionism) ที่สุดโต่ง อาทิ การปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและเม็กซิโกเป็นอัตราสูงสุดถึง 45% และ 35% ตามลำดับ ซึ่งหากมีการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้จริง อาจทำให้หลายประเทศหยิบยกมาตรการในรูปแบบเดียวกันขึ้นมาตอบโต้ ซึ่งจะกระทบต่อการค้าโลกเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ IMF คาดว่าหากมีการนำมาตรการด้านภาษีมาใช้กีดกันทางการค้า จะทำให้การค้าโลกหดตัวราว 15% ภายใน 5 ปี
ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ทางการเมืองในยุโรป ปี 2560 ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของยุโรป เนื่องจากกำลังจะมีการเลือกตั้งในหลายประเทศของ EU ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะฝรั่งเศสและเยอรมนี ในวันที่ 23 เมษายน และ 22 ตุลาคม ตามลำดับ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านของทั้งสองประเทศดังกล่าวที่ชูนโยบายแยกตัวออกจาก EU กำลังได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น หากมีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเมืองเกิดขึ้น อาจจุดกระแสการออกจาก EU ตามมาดังเช่นกรณีของ BREXIT ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าจะสั่นคลอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของ EU ในภาพรวม และอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไป EU ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของไทยรองจากจีนและสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความผันผวนของตลาดเงินทั่วโลก จากเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี 2560 ดังที่กล่าวมา รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้น 3 ครั้งในปี 2560 ซึ่งทุกเหตุการณ์ล้วนส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก และยากที่จะคาดการณ์ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นใด ทำให้เชื่อว่าในปี 2560 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่เต็มไปด้วยความผันผวนในตลาดการเงิน และอาจส่งผลต่อทิศทางค่าเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงเงินบาทของไทยตามมา
สถานการณ์ต่างๆ ข้างต้นที่รออยู่เบื้องหน้า ล้วนเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถคาดการณ์และควบคุม ดังนั้น เป้าหมายสำคัญที่สุดของภาคส่งออกของไทยในปี 2560 คือ การเร่งพัฒนาและปรับโครงสร้างภาคส่งออกให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพการผลิตเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการปรับใช้กลยุทธ์ด้านการค้าการลงทุนใหม่ๆ ที่สอดคล้องไปกับรูปแบบการค้าโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น การออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อเพิ่มช่องทางการค้าใหม่ๆ (Investment Induced Trade) การมุ่งเจาะตลาดส่งออกใหม่ (New Frontier) ที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรงและการส่งออกของไทยไปประเทศดังกล่าวขยายตัวดีต่อเนื่อง อาทิ ปากีสถาน บังกลาเทศ และอิหร่าน ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ให้เหมาะสม อาทิ การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการประกันการส่งออก เป็นต้น
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--