กระแสของ Disruptive Technology หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามามีอิทธิพลให้ธุรกิจเกิดการปรับเปลี่ยนหรือนำเสนอสินค้า/บริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาด จนกระทั่งสินค้า/บริการนั้นๆ มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้บริโภค และอาจทดแทนสินค้าเดิมได้ เริ่มเป็นที่สนใจและหลายอุตสาหกรรมสำคัญของโลกต่างเร่งพัฒนาและคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค ตอบโจทย์ด้านศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์แบบไร้คนขับ ที่อาจเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันและแบบที่มีคนขับ ซึ่งช่วยให้การขับขี่มีความสะดวกสบายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูงที่อาจเข้ามาทดแทนแรงงานและยกระดับประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น ในส่วนของการผลิตในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มก็เริ่มปรับตัวและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เช่นกัน สำหรับเทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่น่าสนใจและน่าติดตามในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในการเตรียมพร้อมและปรับตัวรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ๆ มีดังนี้
- เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) เป็นเครื่องพิมพ์ที่พิมพ์วัสดุได้หลากหลายชนิด อาทิ เส้นพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายขนสัตว์ และโลหะ โดยใช้เทคนิคการพิมพ์ซ้อนทับลงไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นรูปทรง 3 มิติที่จับต้องได้ ทำให้ได้รูปทรงหรือสิ่งของที่เหมือนจริงและตรงกับความต้องการ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งยังแตกต่างจากการพิมพ์ในรูปแบบเดิมๆ ที่ใช้หมึกพิมพ์ลงบนกระดาษหรือวัสดุอื่นที่ออกมาเป็นภาพ 2 มิติเท่านั้น เป็นที่คาดว่า เทคโนโลยี 3D Printing จะพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ทั้งในเรื่องกระบวนการออกแบบสิ่งทอและเสื้อผ้าที่สร้างสรรค์ได้มากขึ้นผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และใช้เวลาสั้นลงในกระบวนการผลิต อีกทั้งการผลิตยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเศษเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมีน้อยกว่ากระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน 3D Printing ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาและมีการใช้งานค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่เป็นชิ้นงานสิ่งทอหรือเสื้อผ้าต้นแบบสำหรับการจัดแสดงแฟชั่นโชว์เท่านั้น เนื่องจากยังมีข้อจำกัดของวัสดุที่ยังไม่สามารถพัฒนาให้มีลักษณะนุ่ม ยืดหยุ่น และใกล้เคียงกับวัตถุดิบสิ่งทอตั้งต้นอย่างฝ้ายหรือเส้นใยสังเคราะห์ Lycra อย่างไรก็ตาม การใช้ 3D Printing ในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นเริ่มพบเห็นมากขึ้นในสินค้าที่ใช้ร่วมกับเครื่องแต่งกาย เช่น เครื่องประดับ รองเท้า และแว่นตา
- Fabric of Things เป็นอีกเทรนด์ของเทคโนโลยีด้านสิ่งทอซึ่งพัฒนามาจาก Internet of Things หรือการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ กับระบบอินเทอร์เน็ต นับตั้งแต่เครื่องใช้ภายในบ้าน (Smart Home) อุปกรณ์ที่สวมใส่ (Smart Wearables) และรถยนต์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Connected Car) โดย Fabric of Things เป็นเทคโนโลยีในการใช้เซ็นเซอร์กับเครื่องแต่งกาย เพื่อทำหน้าที่ติดตาม บันทึก และส่งข้อมูลผ่าน Bluetooth ไปยัง Smartphone, Smartwatch หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้สวมใส่และแสดงผล ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัท IT และผู้ผลิตเสื้อผ้าชั้นนำของโลกได้มีการวิจัยและพัฒนาเสื้อผ้าให้มีความเป็นอัจฉริยะเทียบเท่า Smartphone หรืออุปกรณ์อัจฉริยะอื่นๆ ล่าสุด IDC บริษัทวิจัยชั้นนำคาดการณ์ว่า ยอดจำหน่ายเสื้อผ้าอัจฉริยะทั่วโลกจะขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงกว่า 60% ในช่วงปี 2559-2563 สำหรับตัวอย่างของเสื้อผ้าอัจฉริยะที่ผลิตและจำหน่ายในตลาดโลก อาทิ MyZone และ Victoria’s Secret ผลิตชุดชั้นในกีฬาที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจ Lumo Bodytech Inc. ผลิต Lumo Run หรือกางเกงสำหรับวิ่งที่สามารถวัดระยะทางการวิ่ง และเก็บสถิติต่างๆ ของการวิ่ง เช่น อัตราการก้าวเท้าต่อนาที ความถี่ในการก้าวเท้า พร้อมคำแนะนำเพื่อปรับปรุงการวิ่งให้ดีขึ้น ขณะที่ Ralph Lauren แบรนด์ชั้นนำผลิตเสื้อกีฬาอัจฉริยะที่สามารถวัดอัตราการหายใจและการเต้นของหัวใจ ตลอดจนปริมาณการเผาผลาญพลังงาน
- Robot and Automation จากต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น รวมทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทำให้เริ่มมีการใช้หุ่นยนต์มากขึ้นในหลายๆ อุตสาหกรรม รวมถึงสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในปี 2558 SoftWear Automation Inc. บริษัทซอฟต์แวร์ของสหรัฐฯ ได้พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับการตัดเย็บ (Sewbot) “Lowry” และเริ่มเป็นที่สนใจของผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย และบังกลาเทศ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถทำงานที่ยากขึ้น และทำได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน อีกทั้งมีความแม่นยำในการตัดเย็บ ทำให้การผลิตเกิดการสูญเสียน้อย นอกจากนี้ ในปี 2559 ผู้ประกอบการ Startup บางรายของสหรัฐฯ ได้พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับการตัดเย็บ และอยู่ระหว่างการพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันการใช้หุ่นยนต์ยังไม่แพร่หลายในโรงงานผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนหนึ่งเนื่องจากข้อจำกัดของการทำงานของหุ่นยนต์กับงานที่ซับซ้อน หรือการทำงานกับเนื้อผ้าที่มีความนิ่มและยืดหยุ่น อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วจะทำให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ดีขึ้นในทุกขั้นตอนการผลิต และสามารถทำงานร่วมกับแรงงานคนได้มากขึ้น ขณะที่ราคาจำหน่ายเริ่มถูกลง จึงมีการคาดการณ์ว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะมีการใช้หุ่นยนต์อย่างเต็มรูปแบบในโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่ม สำหรับในส่วนของแรงงาน คาดว่าจะพัฒนาไปสู่แรงงานที่มีทักษะขั้นสูงซึ่งจะดูแลโปรแกรมและการทำงานของหุ่นยนต์แทน
- เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีเศษวัสดุสิ่งทอเหลือทิ้งจำนวนมาก เช่น เศษด้าย เศษผ้า รวมถึงปัญหาน้ำเสีย โดยเฉพาะจากกระบวนการฟอกย้อม และมีการใช้น้ำในปริมาณที่ค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้ตระหนักและใส่ใจต่อการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจึงหันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยลดมลภาวะ อาทิ Zara ผู้นำในอุตสาหกรรม Fast Fashion ได้ใช้ Lean Technology ซึ่งช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิต เช่น ลดการสูญเสียในการผลิต ลดการใช้วัตถุดิบ ลดระยะเวลาในการผลิต และลดปริมาณสินค้าคงคลัง เป็นต้น Levi’s ผู้ผลิตเสื้อและกางเกงยีนส์รายสำคัญ พัฒนาผลิตภัณฑ์ยีนส์รุ่น “Waterless” (Water<less) ซึ่งมาจากกระบวนการผลิตที่ลดปริมาณการใช้น้ำลงขณะที่ Nike และ Adidas นำเทคโนโลยีการใช้ผ้าถัก (Knit Technology) ซึ่งเป็นการใช้ด้ายเส้นเดียวในการถักทอเป็นรองเท้าผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้นอกจากจะได้รองเท้ากีฬาที่มีน้ำหนักเบาและนุ่มราวกับสวมถุงเท้าแล้ว ยังช่วยลดการสูญเสียวัตถุดิบในการผลิตลง โดย Nike รายงานว่า เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดการสูญเสียวัตถุดิบได้มากถึง 80%
ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะทวีความรุนแรงขึ้น จะเป็นตัวเร่งให้เกิดผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นในไม่ช้า จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการร่วมมือกับสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตและรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาแรงงานให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับความหลากหลายของเทคโนโลยีแห่งอนาคตได้
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2560--