ส่อง TREND โลก: จับกระแสการลดขยะอาหารกับโอกาสทางธุรกิจอาหารยุคใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 28, 2017 15:09 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO) ระบุว่า ขณะที่ประชากรโลกราว 800 ล้านคนยังคงเผชิญกับความหิวโหยและประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอยู่นั้น ราว 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารทั้งหมดที่ผลิตเพื่อการบริโภค กลับกลายเป็นเศษอาหารหรือขยะอาหาร (Food Waste) ที่สูญเสียไปอย่างไร้ประโยชน์ ทั้งนี้ ขยะอาหารเกิดได้จากทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิต ขนส่ง และจำหน่าย ไปจนถึงมือผู้บริโภค โดยสาเหตุสำคัญนอกจากการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และทำให้สินค้าบางส่วนเสียหายแล้ว พบว่าความสูญเสียส่วนมากเกิดจากการที่ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารต่างๆ มักนำอาหารที่จำหน่ายไม่หมดไปทิ้ง (ทั้งที่ยังอยู่ในสภาพรับประทานได้โดยปลอดภัย) เนื่องจากสินค้าดังกล่าวมีขนาดหรือรูปร่างไม่สวยงามตามมาตรฐานที่ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อ รวมถึงหีบห่อที่บรรจุอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ หรือเกินวันหมดอายุแล้ว ดังนั้นจึงมีสินค้าจำนวนมากที่ถูกทิ้งในแต่ละวัน นอกจากนี้ กลยุทธ์การตลาดที่บริษัทผู้ผลิตกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้ออาหารในปริมาณมากเกินความจำเป็น อาทิ ซื้อ 1 แถม 1 ทำให้ผู้บริโภคแต่ละครัวเรือนต่างมีอาหารเหลือทิ้งมากเช่นกัน ขยะอาหารเหล่านี้ นอกจากจะเป็นภาระในการจัดการของผู้ประกอบการและครัวเรือนแล้ว ยังก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน

จากสถานการณ์ดังกล่าวกระตุ้นให้สังคมหันมาให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับการหาวิธีลดปริมาณขยะอาหาร อาทิ การจัดตั้งธนาคารอาหาร (Food Bank) ในหลายประเทศ เพื่อทำหน้าที่รวบรวมอาหารที่ไม่เหมาะแก่การจำหน่ายทั้งจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านอาหารไปบริจาคให้แก่ผู้ที่ขาดแคลน การปรับปริมาณและและรสชาติของเมนูอาหารในโรงเรียนให้ตรงกับความต้องการของนักเรียนมากขึ้นเพื่อมิให้มีอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก การรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีความรู้และความเข้าใจฉลากสินค้าถึงความแตกต่างระหว่างคำว่า “Best Before” และ “Expired Date” ที่ระบุอยู่บนฉลากสินค้า เพื่อลดความสับสนแก่ผู้บริโภค กล่าวคือ

  • Best Before หมายถึง สินค้าอาหารนี้จะยังคงมีสภาพสดใหม่และคุณภาพดีหากนำมารับประทานก่อนวันที่ระบุ นอกจากนี้ หลังจากวันที่ระบุไปแล้วสินค้าอาหารนี้ก็ยังสามารถรับประทานหรือนำมาปรุงอาหารได้ตามปกติ แต่สินค้าอาหารดังกล่าวอาจมีสี กลิ่น รส หรือเนื้อสัมผัสที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติบ้าง
  • Expired Date หมายถึง หลังจากวันที่ระบุแล้วห้ามรับประทานหรือไม่ควรนำมาบริโภค

นอกจากนี้ หลายประเทศยังสนับสนุนการลดปริมาณขยะอาหารอย่างจริงจังด้วยการกำหนดกฎระเบียบขึ้นเฉพาะ อาทิ ฝรั่งเศสออกกฎหมายห้ามซูเปอร์มาร์เก็ตทิ้งหรือทำลายอาหาร แต่ให้นำอาหารเหล่านั้นไปบริจาคแก่องค์กรการกุศลและธนาคารอาหาร เกาหลีใต้ติดตั้งเครื่องกำจัดขยะเศษอาหาร RFID ในชุมชนที่อยู่อาศัย ซึ่งเครื่องดังกล่าวจะคำนวณน้ำหนักขยะอาหารที่แต่ละครัวเรือนนำมาทิ้ง และออกใบเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายจากเจ้าของขยะอาหารดังกล่าว ขณะที่บางรัฐในสหรัฐฯ กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องแยกและ Recycle ขยะอาหาร เป็นต้น

จากกระแสความตื่นตัวในการลดขยะอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ หรือการทำการตลาดใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดขยะอาหาร ที่น่าสนใจ อาทิ

  • การจัดตั้งซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายของหมดอายุ : 'Wefood' ในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของโลกที่จำหน่ายทั้งอาหารหมดอายุที่ได้รับการเก็บรักษาอย่างดี อาหารที่ใกล้วันหมดอายุ หรืออาหารที่ได้รับบริจาคมา (ทั้งจากห้างค้าปลีกและผู้ผลิตอาหาร) แต่บรรจุภัณฑ์มีตำหนิ ทำให้ราคาจำหน่ายสินค้าเหล่านี้ถูกกว่าสินค้าราคาปกติถึงกว่าครึ่งหนึ่งจึงเป็นที่นิยมอย่างมาก
  • การจัดตั้งร้านอาหารที่มีแนวคิดช่วยลดขยะอาหาร อาทิ ร้าน Rub&Stub ใช้วัตถุดิบอาหารที่ได้รับบริจาคมาปรุงเป็นเมนูอาหาร ร้าน WastED ใช้วัตถุดิบที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทั่วไปมาใช้ประกอบเป็นเมนูอาหารที่เสิร์ฟในร้าน
  • การจัดทำ Application เพื่อรณรงค์ลดขยะอาหาร ปัจจุบันมีหลากหลาย Application อาทิ Too Good To Go (TGTG) เป็น Application ที่รวบรวมลิสต์รายการอาหารที่จำหน่ายไม่หมดจากร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านเบเกอรี่ ที่เข้าร่วมโครงการช่วยลดขยะอาหาร ผู้ใช้ Application ดังกล่าวสามารถสั่งซื้อสินค้าอาหารในลิสต์ได้ในราคาถูก และไปรับสินค้าภายในเวลาที่กำหนด Love Food Hate Waste เป็น Application ที่มีสูตรอาหารมากมาย พร้อมช่วยให้ผู้ใช้ Application สามารถวางแผนปรุงอาหารแต่ละเมนูในปริมาณที่เหมาะกับจำนวนผู้รับประทาน และคำนวณหาปริมาณวัตถุดิบที่เหมาะสม เพื่อให้มีปริมาณขยะอาหารที่ต้องทิ้งน้อยที่สุด
  • การเปลี่ยนกลยุทธ์การทำตลาด อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งลดการใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย “ขนาดใหญ่ถูกกว่า” หรือ “ซื้อ 1 แถม 1” ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้แต่ละครัวเรือนซื้อสินค้าอาหารเกินความจำเป็นจนกลายเป็นขยะเหลือทิ้ง แต่หันมาเน้นการจัดโปรโมชั่นจำหน่ายผัก-ผลไม้ที่ไม่สวยหรือมีตำหนิในราคาพิเศษ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง
  • การสนับสนุนการห่อกลับบ้าน ร้านอาหารหลายแห่งในยุโรปมีมาตรการชักชวนลูกค้าที่รับประทานอาหารไม่หมดในร้านให้ห่อกลับไปรับประทานต่อที่บ้าน

จากตัวอย่างธุรกิจใหม่ๆ และการทำการตลาดใหม่ๆ ข้างต้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กระแสการลดขยะอาหารหรือ Food Waste นั้น มีพลังมากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของผู้ผลิต ร้านค้า ร้านอาหาร ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทยจะเริ่มพิจารณาปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าให้ลดการสูญเสียระหว่างผลิต หรือพัฒนาบริการใหม่ๆ ที่สนับสนุนและสอดคล้องไปกับแนวทางการลดขยะอาหารของโลก รวมถึงการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ อาทิ ปรับบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดเล็กลงพอเหมาะกับการรับประทานให้หมดในแต่ละครั้ง การใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำมา Recycle ได้ และการติดฉลากวันหมดอายุหรือวันที่ควรบริโภคก่อนให้ชัดเจน เป็นต้น

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ