ทวีปแอฟริกานับเป็นดินแดนใหม่อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ ทั้งด้านการค้าและการลงทุน อย่างไรก็ตาม ด้วยพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ถึง 30 ล้านตารางกิโลเมตร ประชากรมากถึง 1,200 ล้านคน มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ทำให้แม้เป็นภูมิภาคที่น่าสนใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการเลือกประเทศที่จะพาตัวเองเข้าไป ผู้เขียนจึงจะขอยกตัวอย่างช่องทางและกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาที่นักธุรกิจไทยน่าจะเข้าไปเจาะตลาดเพื่อทำการค้า/การลงทุน
ไม่ทราบว่าผู้อ่านเคยได้ยินคำว่า “COMESA” หรือไม่ หากยังไม่เคยได้ยิน ก็อยากให้ทุกท่านทำความรู้จักกับคำนี้ให้มากขึ้น COMESA (Common Market for Eastern and Southern Africa) คือ ตลาดร่วมแห่งแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้ เป็นการรวมกลุ่มของ 19 ประเทศที่มีพื้นที่อยู่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ จิบูตี อียิปต์ เคนยา มาดากัสการ์ มาลาวี มอริเชียส แซมเบีย ซูดาน ซิมบับเว บุรุนดี รวันดา คอโมโรส ลิเบีย คองโก เอริเทรีย เอธิโอเปีย เซเชลส์ สวาซิแลนด์ และยูกันดา ความน่าสนใจของ COMESA คือ เป็นกลุ่มตลาดขนาดใหญ่ มี GDP เกือบ 1 ใน 4 ของ GDP รวมของทวีปแอฟริกา ขณะที่มีประชากรราว 500 ล้านคน หรือ 40% ของประชากรรวมของทวีปแอฟริกา ทั้งนี้ COMESA กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่ในประเทศสมาชิกเป็น 0% ขณะที่ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าจากประเทศนอก COMESA ราว 10% สำหรับสินค้าขั้นกลาง และราว 25% สำหรับสินค้าสำเร็จรูป นอกจากนี้ COMESA เป็นกลุ่มที่จัดตั้งมานานเกือบ 23 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมืออันแข็งแกร่งของประเทศสมาชิก จึงเป็นโอกาสที่นักธุรกิจไทยอาจใช้ช่องทางนี้เริ่มต้นเจาะตลาดแอฟริกา โดยหนึ่งในกลยุทธ์ทางธุรกิจที่น่าสนใจ คือ การเลือกส่งออกหรือเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพใน COMESA เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิก คล้ายกับ Springboard ที่จะใช้กระโดดเข้าสู่ประเทศต่างๆ ใน COMESA
ในบรรดา 19 ประเทศของ COMESA นั้น “เคนยา” เป็นประเทศหนึ่งที่นักธุรกิจทั่วโลกพูดถึงอยู่บ่อยๆ เนื่องจากมีความน่าสนใจทั้งในแง่ของการเข้าไปตั้งฐานการผลิต รวมถึงเป็นศูนย์กระจายสินค้า ด้วย 3 เหตุผลสำคัญ คือ
1. มีท่าเรือมอมบาซา ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในแอฟริกาฝั่งตะวันออกและใหญ่เป็นอันดับ 5 ของทวีปแอฟริกา เป็นช่องทางนำเข้าและกระจายสินค้าสำคัญจากฝั่งตะวันออกเข้าสู่ตอนกลางของทวีปแอฟริกา
2. มีความง่ายพอสมควรในการเข้าไปดำเนินธุรกิจ สะท้อนจากดัชนี Ease of Doing Business อยู่ในอันดับที่ 3 ของ COMESA และเป็นอันดับ 7 ของทวีปแอฟริกา
3. ในปี 2558 เคนยาเป็นประเทศที่มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ขยายตัวสูงสุดในทวีปแอฟริกา สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศการลงทุนที่ดี จึงดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายรายให้ความสนใจเข้าไปลงทุนตั้ง Regional Hub ในทวีปแอฟริกา อาทิ Coca Cola (สหรัฐฯ) Google (สหรัฐฯ) Huawei (จีน) LG (เกาหลีใต้) Toyota (ญี่ปุ่น)
นอกจากนี้ นักธุรกิจไทยสามารถใช้เคนยาเป็นประตูเข้าสู่แอฟริกาตอนกลางที่หลายประเทศมีลักษณะเป็น Landlocked Country ไม่มีทางออกสู่ทะเล และค่อนข้างเข้าถึงได้ยาก แต่ยังมีโอกาสทางธุรกิจมหาศาลรออยู่ โดยเฉพาะความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค
ที่ผ่านมา เคนยาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยเป็นลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะหากเทียบในกลุ่ม COMESA พบว่าเคนยาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนราว 10% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยไป COMESA สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเคนยาหลายรายการเป็นกลุ่มวัตถุดิบและสินค้าทุน อาทิ ส่วนประกอบรถยนต์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก ผ้าผืน แบตเตอรี่ และเครื่องจักรกล ขณะที่ในมิติด้านการลงทุน พบว่าปัจจจุบันยังไม่ค่อยมีบริษัทไทยเข้าไปลงทุนในเคนยามากนัก ทั้งนี้ นักธุรกิจไทยอาจต่อยอดจากการส่งออกวัตถุดิบและสินค้าทุนไปเคนยาสู่การตั้งฐานการผลิต เพื่อแสวงหาตลาดใหม่ที่ความต้องการยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ผู้เขียนมองว่า ช่วงเวลานี้นับเป็นโอกาสดีที่นักธุรกิจไทยจะเริ่มมองหาหรือต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะในดินแดนใหม่ๆ เพื่อทดแทนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดหลักของโลกที่ยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจหรือเริ่มใกล้จุดอิ่มตัว ซึ่งเคนยาอาจเป็นอีกหนึ่ง Springboard ของไทยในการกระโจนเข้าหาโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มประเทศ COMESA ต่อไป
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2560--