รัสเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เป็นสินค้าส่งออกหลักที่สร้างรายได้จำนวนมากเข้าประเทศ คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ขณะที่ในส่วนของภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร รัฐบาลรัสเซียไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนามากนักในช่วงที่ผ่านมา แต่เน้นการนำเข้าเพื่อบริโภคในประเทศเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรจากทั้งสหรัฐฯ และยุโรปในปี 2557 ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มประเทศนี้ถือเป็นแหล่งนำเข้าอาหารที่สำคัญของรัสเซีย เมื่อประกอบกับเศรษฐกิจรัสเซียอยู่ในภาวะซบเซาจากราคาน้ำมันตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้น รัฐบาลรัสเซียจึงต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการปฏิวัติภาคเกษตรกรรมครั้งใหญ่เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) ภายใต้แผนพัฒนาภาคเกษตรกรรมที่ได้มีการปรับปรุงแผนใหม่ในปี 2557 (Agricultural Development Program 2013-2020, Revised in 2014) ซึ่งมีเป้าหมาย หลักที่จะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและลดการพึ่งพาการนำเข้าลง จนสามารถพึ่งพาสินค้าเกษตรและอาหารที่ผลิตในประเทศได้ทั้งหมดภายในปี 2563
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลรัสเซียเร่งดำเนินนโยบายหลายประการเพื่อพลิกฟื้นภาคเกษตรกรรมตามแผนดังกล่าว อาทิ โครงการให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรรายใหม่จำนวน 58.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 7 ปี นอกจากนี้ รัฐบาลรัสเซียยังออกนโยบาย Free Land Program ในปี 2558 เพื่อปฏิรูปพื้นที่รกร้างทางภาคตะวันออกของประเทศ ให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยให้ที่ดินฟรีแก่บุคคลทั่วไปคนละราว 2.5 เอเคอร์เป็นเวลา 5 ปี เพื่อใช้ทำการเกษตร
เพียงไม่นานการดำเนินการตามแผนดังกล่าวก็เริ่มผลิดอกออกผลเพราะผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังเห็นได้จากมูลค่านำเข้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของรัสเซียลดลงราว 35% ในปี 2558 ขณะเดียวกันรัสเซียเริ่มประสบความสำเร็จในการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารบางประเภทเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและเริ่มส่งออกได้บ้างแล้ว จากเดิมที่ต้องนำเข้าเกือบทั้งหมด อาทิ เนื้อหมู (มูลค่าส่งออกปี 2558 ขยายตัว 447%) เนื้อไก่ (ขยายตัว 17%) น้ำตาลทราย (ขยายตัว 35%) ส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของรัสเซียในปี 2558 อยู่ที่ 5% ของมูลค่าส่งออกรวม เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2556
การปฏิวัติภาคเกษตรกรรมของรัสเซียที่กำลังก้าวเดินไปข้างหน้า ถือเป็นโอกาสสำคัญของไทยทั้งในด้านการค้าและการลงทุน โดยในระยะสั้น ในระหว่างที่รัสเซียกำลังพัฒนาภาคเกษตรกรรมและถูกคว่ำบาตรการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยไปรัสเซียยังคงได้อานิสงส์จากการที่รัสเซียต้องหันมานำเข้าจากประเทศในแถบเอเชียรวมทั้งไทยมากขึ้นแทนการนำเข้าจากยุโรป โดยมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปรัสเซียหลายรายการขยายตัวในระดับสูง อาทิ ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง (มูลค่าส่งออกปี 2559 ขยายตัว 95%) ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง (ขยายตัว 51%) และปลาแห้ง (ขยายตัว 18%) ขณะที่ในระยะยาว การที่รัสเซียเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่จะผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อบริโภคในประเทศทั้งหมด ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปลงทุนในรัสเซีย โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูป ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพในการแข่งขันสูง ปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนบ้างแล้วในบางอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ และน้ำตาลทราย เมื่อประกอบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัสเซียที่เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่และประชาชนมีกำลังซื้อสูง ทำให้รัสเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2560--