เวียดนามยังคงเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายหลักของนักลงทุนต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น ประกอบกับรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายที่เปิดกว้างในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและพร้อมรองรับการลงทุนหลายรูปแบบ ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบและกฎหมายการลงทุนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนให้มากขึ้น ทำให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศมูลค่ามหาศาลหลั่งไหลเข้าเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามส่วนใหญ่มักเลือกพื้นที่ลงทุนในเมืองหลักอย่างกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์เป็นลำดับต้นๆ เนื่องจากเล็งเห็นถึงความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการลงทุน แรงงานที่มีจำนวนมาก และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ศักยภาพของเวียดนามไม่ได้จำกัดอยู่ในเมืองหลักทั้งสองแห่งเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติเริ่มพิจารณาพื้นที่ลงทุนในเมืองรองมากขึ้น หลังจากการลงทุนในเมืองหลักมีต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าเช่าที่ดินและค่าสาธารณูปโภค ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ขณะที่โอกาสการลงทุนในเมืองรองยังเปิดกว้าง ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าและสามารถเชื่อมโยงธุรกิจกับเมืองหลักได้อีกด้วย
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของเวียดนามยังมีส่วนทำให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงและมีพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบสังคมเมืองกระจายตัวในเมืองรองมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมืองรองของเวียดนาม โดยข้อมูลของ Boston Consulting Group ระบุว่า กลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง (Middle and Affluent Class : MAC) ในเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 12.4 ล้านคนในปี 2555 เป็น 32.7 ล้านคนในปี 2563 หรือราว 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ และจะกระจายตัวอยู่ในเมืองรองมากขึ้น ด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 13 ต่อปี สูงกว่าเมียนมา อินโดนีเซียและไทย
หากแบ่งเมืองรองตามภูมิภาคของเวียดนาม พบว่า จังหวัดไฮฟอง (Hai Phong) ทางภาคเหนือ จังหวัดดานัง (Da Nang) ทางภาคกลาง และจังหวัดเกิ่นเทอ (Can Tho) ทางภาคใต้ เป็น 3 เมืองรองที่มีศักยภาพโดดเด่นและโอกาสการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการไทยยังเปิดกว้าง โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
จังหวัดไฮฟองตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือของเวียดนาม ห่างจากกรุงฮานอยไปทางทิศตะวันออกราว 100 กิโลเมตร และเป็นที่ตั้งของท่าเรือไฮฟอง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักที่มีสินค้าส่งผ่านสูงถึงร้อยละ 98 ของสินค้าทั้งหมดที่ส่งผ่านสู่ภาคเหนือของเวียดนาม ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า จังหวัดไฮฟองมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็น Logistics Hub ของภูมิภาคและเป็นประตูการค้าสำคัญที่เชื่อมเวียดนามสู่โลก เนื่องจากเป็นเมืองท่าที่มีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่รัฐบาลเวียดนามเร่งพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงการประกอบธุรกิจของจังหวัดไฮฟองกับเมืองสำคัญอื่นๆ ในเวียดนาม รวมถึงจีนอย่างต่อเนื่อง อันจะมีส่วนช่วยยกระดับการคมนาคมขนส่งในจังหวัดไฮฟองให้สะดวกยิ่งขึ้น ล่าสุดเพิ่งมีการเปิดใช้ทางด่วนเชื่อมกรุงฮานอยและจังหวัดไฮฟอง (Hanoi-Hai Phong Expressway) ระยะทาง 105 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาเดินทางระหว่างสองเมืองจาก 2.5 ชั่วโมง เหลือ 1.5 ชั่วโมง นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังอยู่ระหว่างการขยายและปรับปรุงท่าเรือน้ำลึก Lach Huyen Deep Sea Port ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของท่าเรือไฮฟอง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 รวมถึงการยกระดับสนามบินนานาชาติ Cat Bi ให้รองรับผู้โดยสารได้ราว 8 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2568 นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในจังหวัดไฮฟอง
หากพิจารณาศักยภาพทางเศรษฐกิจพบว่า เศรษฐกิจจังหวัดไฮฟองขยายตัวค่อนข้างโดดเด่น โดยในปี 2558 ขยายตัวราวร้อยละ 8-9 และมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามโดยรวม (Contribution to GDP) ราวร้อยละ 5 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจังหวัดขยายตัวราวร้อยละ 8 และมูลค่าส่งออกขยายตัวร้อยละ 16-17 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่จังหวัดไฮฟองเป็นฐานการผลิตของบริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไฮเทคชั้นนำของโลกหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่มีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงกับจีน สำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพในจังหวัดไฮฟอง ได้แก่ ธุรกิจต่อเรือ ธุรกิจก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต และธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น
จังหวัดดานังตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของเวียดนาม ห่างจากกรุงฮานอย 764 กิโลเมตร และห่างจากนครโฮจิมินห์ 964 กิโลเมตร ด้วยศักยภาพด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางพื้นที่ภาคกลางของประเทศ และเป็นที่ตั้งของท่าเรือดานัง (Da Nang Port) ซึ่งเป็นท่าเรือหลักเพียงแห่งเดียวในบริเวณนั้น รวมทั้งมีเส้นทางการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศรองรับ จังหวัดดานังจึงเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค และมีทางหลวงหมายเลข 1A (National Road 1A) เชื่อมโยงการเดินทางไปยังภาคเหนือและภาคใต้ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้เส้นทางถนนดังกล่าวเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยว 4 แห่งของเวียดนามที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO ได้แก่ โบราณสถานเมืองเว้ เมืองโบราณฮอยอัน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ My Son และอุทยานแห่งชาติ Phong Nha-Ke Bang นอกจากนี้ จังหวัดดานังยังเป็นทางออกสู่ทะเลจีนใต้ของเส้นทาง East-West Economic Corridor (EWEC) ซึ่งเชื่อมโยง 13 จังหวัด ของ 4 ประเทศ (เมียนมา ไทย สปป.ลาว และเวียดนาม) จึงนับเป็นประตูการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภูมิภาค
นอกจากนี้ จังหวัดดานังยังมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคกลางของประเทศ สะท้อนได้จากเศรษฐกิจ จังหวัดดานังปี 2558 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.8 รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 2,908 ดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ราว 2,200 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่แผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดดานัง (The Master Plan of Socio-Economic Development of Da Nang) ตั้งเป้าเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเป็น 4,500-5,000 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563 สะท้อนกำลังซื้อที่สูงขึ้นของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ จังหวัดดานังยังวางยุทธศาสตร์ในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยว ทดแทนการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของเวียดนามที่ตั้งเป้าก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัยภายในปี 2563
จังหวัดเกิ่นเทอตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงทางภาคใต้ของเวียดนาม อยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ราว 170 กิโลเมตร ด้วยศักยภาพของทำเลที่ตั้งที่มีแม่น้ำ Hua ซึ่งเป็นแม่น้ำที่แยกออกมาจากแม่น้ำโขงไหลผ่าน ทำให้จังหวัดเกิ่นเทอเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และเป็นเมืองหลักที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจังหวัดเกิ่นเทอเป็นจังหวัดที่รัฐบาลเวียดนามลงทุนในโครงการโทรคมนาคมในระดับสูง จึงเป็นจังหวัดที่มีเครือข่ายโทรคมนาคมที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีความโดดเด่นในด้านการมีแหล่งอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัว โดยมีเขตอุตสาหกรรมรวม 8 แห่ง และมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติจำนวนมาก ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามมีแผนพัฒนาให้จังหวัดเกิ่นเทอเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีการลงทุนในโครงการด้านการท่องเที่ยวตามแนวแม่น้ำอย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจที่มีศักยภาพในจังหวัดเกิ่นเทอ ได้แก่ ท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง อุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมเกษตร/ประมงแปรรูป เป็นต้น
ด้วยศักยภาพในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาของจังหวัดไฮฟอง จังหวัดดานัง และจังหวัดเกิ่นเทอ ทำให้เมืองรองทั้ง 3 แห่งเป็นอีกตัวเลือกของแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพในเวียดนามนอกเหนือจากกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นประกอบการตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุนให้เหมาะสมกับธุรกิจของตน
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด