หลังจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในช่วงปลายปี 2558 จนนำมาสู่การขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายทีนจอ เมื่อ 30 มีนาคม 2559 นับเป็นย่างก้าวสำคัญสู่เมียนมายุคใหม่ เพราะไม่เพียงชาวเมียนมาที่รอดูการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่ยังรวมถึงนักลงทุนทั่วโลกที่จับตามองการพลิกโฉมหน้าประเทศครั้งสำคัญ โดยเฉพาะด้านนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าไปดำเนินธุรกิจในเมียนมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ภายใต้การผลักดันของนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมียนมาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายด้าน เช่น ด้านโครงสร้างหน่วยงานราชการปรับลดจำนวนกระทรวงจากเดิม 36 กระทรวง เหลือเพียง 21 กระทรวง เพื่อลดค่าใช้จ่ายและความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน ด้านแรงงานสนับสนุนให้แรงงานเมียนมาที่ทำงานในต่างประเทศย้ายกลับเมียนมามากขึ้น หลังจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แรงงานเมียนมานิยมไปทำงานต่างประเทศ จนเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในบางพื้นที่ของเมียนมา
นอกจากนี้ นโยบายด้านเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร รวมทั้งส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปแทนการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติและสินค้าเกษตรขั้นต้น สำหรับด้านกฎระเบียบ รัฐบาลเมียนมามุ่งยกระดับกฎระเบียบต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น โดยเฉพาะ Investment Law ฉบับใหม่ หรือ "Myanmar Investment Law 2016" ซึ่งเป็นการรวมกฎหมายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนเมียนมาเข้าด้วยกัน มีสาระสำคัญที่เปลี่ยนไป อาทิ ช่องทางการขอใบอนุญาตสำหรับนักลงทุนจาก Myanmar Investment Commission (MIC) ที่เดิมมีเพียง MIC Permit แต่กฎหมายฯ ฉบับใหม่กำหนดให้มี 2 ช่องทาง ได้แก่
1. MIC Permit สำหรับธุรกิจเป้าหมายของรัฐ ธุรกิจที่รัฐกำหนดให้มีใบอนุญาต ธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก รวมถึงธุรกิจที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และ
2. MIC Endorsement สำหรับธุรกิจที่ไม่อยู่ในกลุ่มที่ต้องขอ MIC Permit ช่วยให้การขอใบอนุญาตลงทุนทำได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีก็เปลี่ยนจากยกเว้นภาษีนิติบุคคลทุกพื้นที่เป็นระบบ Zoning แบ่งเป็น 3 เขตได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน
การเปลี่ยนแปลงสำคัญครั้งนี้ แม้ในระยะสั้นส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ที่เข้าสู่เมียนมา สะท้อนจากตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ มูลค่า FDI ที่ได้รับการอนุมัติในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม 2559 ลดลงถึง 29% (Y-o-Y) เทียบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่เคยขยายตัวเฉลี่ยถึง 80% ต่อปี สูงสุดในอาเซียน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนเพื่อรอดูทิศทางนโยบายของรัฐบาลและกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ เป็นที่คาดว่าเมื่อนโยบายรัฐบาลมีความชัดเจนขึ้นจะทำให้มีเม็ดเงิน FDI ไหลกลับเข้าเมียนมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงาน การสื่อสารและคมนาคม รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นใช้แรงงาน ในขณะนี้มีบริษัทชั้นนำของโลกหลายแห่งเข้าไปลงทุนในเมียนมาแล้ว อาทิ Aeon (ญี่ปุ่น) Suzuki (ญี่ปุ่น) และ Telenor (นอร์เวย์)
สำหรับนัยต่อประเทศไทย การปรับปรุงกฎระเบียบของเมียนมาจาก "Double Standard" สู่ "International Standard" จะช่วยเปิดประตูการค้าการลงทุนในเมียนมาให้กว้างขึ้น ไม่เพียงแต่นักลงทุนไทยเท่านั้นที่จะเข้าไปทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น แต่ยังรวมถึงนักลงทุนชาติอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะทำให้การแข่งขันสูงขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกับเมียนมา จึงควรรีบใช้โอกาสจากการเปิดและพลิกโฉมประเทศครั้งใหม่ของเมียนมา ซึ่งคาดว่าจะเป็นดาวรุ่งทางเศรษฐกิจดวงใหม่ของเอเชีย โดยไทยและเมียนมาควรร่วมกันพัฒนาเพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้นโดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด