ส่อง TREND โลก: Augmented Reality (AR)…เทคโนโลยีล้ำสมัยสร้างโอกาสต่อยอดธุรกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 3, 2017 11:54 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในปี 2559 ได้เกิดกระแสเกมออนไลน์อย่าง Pokemon GO ซึ่ง Guinness World Records เปิดเผยว่า Pokemon GO สร้างสถิติใหม่ให้กับวงการเกมออนไลน์หลายด้าน อาทิ เกมที่ทำรายได้สูงสุด และเกมที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดภายในเดือนแรกของการให้บริการ โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จของ Pokemon GO คือ การนำเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) มาสร้างตัวการ์ตูนให้ปรากฏเป็นภาพเสมือนและเคลื่อนไหวได้เหมือนมีชีวิตจริงบน Smartphone ในสถานที่ต่างๆ ที่ผู้เล่นเกมเดินทางไปเพื่อตามหาตัวการ์ตูน และด้วยความโด่งดังของเกมดังกล่าว ทำให้เทคโนโลยี AR เป็นที่รู้จักมากขึ้น ดังนั้น เพื่อก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ส่องเทรนด์โลกฉบับนี้จะนำท่านผู้อ่านทำความรู้จักกับเทคโนโลยี AR ให้มากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างประสบการณ์ของบริษัทชั้นนำของโลกในธุรกิจต่างๆ ที่นำเทคโนโลยี AR มาประยุกต์ใช้

ทำความรู้จักกับเทคโนโลยี AR

Augmented Reality (AR) คือเทคโนโลยีที่ใช้สร้างตัวอักษร ข้อความ รูปภาพ หรือวิดีโอให้เกิดขึ้นเป็นภาพเสมือนซ้อนทับกับภาพจริงปรากฏบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ Smartphone, Tablet, แว่นตาอัจฉริยะ (Smart Glasses) และอุปกรณ์แสดงภาพเสมือนแบบสวมศีรษะ (Head Mounted Display) ซึ่งติดตั้งแอพพลิเคชั่น AR ทั้งนี้ ตัวอย่างแอพพลิเคชั่น AR ที่แบ่งตามลักษณะการทำงาน มีดังนี้

1. Marker-based เป็นแอพพลิเคชั่น AR ที่อ่านสัญลักษณ์ AR Code ซึ่งเมื่อผู้ใช้งานส่องกล้องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปยังภาพหรือบริเวณที่มีสัญลักษณ์ AR Code ระบบจะประมวลผลสัญลักษณ์ดังกล่าวออกมาเป็นภาพ 3 มิติ หรือภาพเคลื่อนไหวปรากฏบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

2. Location-based คือแอพพลิเคชั่น AR ที่ทำงานร่วมกับระบบ Global Positioning System (GPS) ของ Smartphone ทำให้สามารถระบุตำแหน่งของผู้ใช้งานและเมื่อส่องกล้อง Smartphone ไปยังสถานที่รอบตัวผู้ใช้งาน ระบบจะประมวลผลแล้วส่งภาพเสมือนหรือวิดีโอซ้อนทับกับสถานที่ที่ผู้ใช้งานอยู่สร้างความรู้สึกให้กับผู้ใช้งานเสมือนกับเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ

ประโยชน์ของ AR…จุดประกายสร้างโอกาสต่อยอดธุรกิจ

Global Market Insights Inc. ประเมินว่ามูลค่าตลาดเทคโนโลยี AR ทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ จะพุ่งแตะระดับ 165 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้เฉลี่ยราว 81% ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2559-2567 โดยคาดว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจทางการแพทย์จะนำเทคโนโลยี AR ไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ปัจจุบันตัวอย่างการประยุกต์ใช้งาน AR ในธุรกิจต่างๆ มีดังนี้

  • ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขาย ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าระดับโลกเล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยี AR และนำมาต่อยอดใช้ในงานประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมการขาย เพื่อสร้างโอกาสให้ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น อาทิ IKEA (ผู้จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของโลก) นำเสนอแอพลิเคชั่น AR ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกเฟอร์นิเจอร์จากหนังสือแสดงรายการสินค้าที่มี AR Code และใช้
Smartphone หรือ Tablet ส่องไปยังบริเวณที่ต้องการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งภาพเฟอร์นิเจอร์เสมือนจริงจะปรากฏในบริเวณดังกล่าว ช่วยให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ให้เข้ากับสถานที่ติดตั้งได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ SEPHORA (ร้านจำหน่ายเครื่องสำอางของฝรั่งเศสที่มีสาขาทั่วโลก) นำเทคโนโลยี AR มาจำลองภาพการแต่งหน้าให้กับลูกค้า ช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกสีเครื่องสำอางให้เข้ากับสีผิวของตนเองได้ดียิ่งขึ้น ส่วน Heinz (ผู้ผลิตและจำหน่ายซอสมะเขือเทศชื่อดังของโลก) กระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้าด้วยหนังสือสอนทำอาหาร 3 มิติ ซึ่งจะปรากฏอยู่ข้างขวดเมื่อมองผ่านแอพลิเคชั่นบน Smartphone หรือ Tablet กลยุทธ์ดังกล่าวจูงใจให้ลูกค้าอยากซื้อสินค้าเพื่อกลับไปทดลองประกอบอาหารตามรายการดังกล่าวที่บ้าน
  • สื่อการศึกษาและการฝึกอบรม อาทิ G Softbiz Co., Ltd. ผลิตแอพพลิเคชั่นนิทาน LarTo 3D สำหรับใช้อ่านนิทาน โดยใช้เทคโนโลยี AR ทำให้ตัวการ์ตูนไดโนเสาร์ในนิทานออกมาเป็นภาพ 3 มิติ สีสันสวยงาม เคลื่อนไหวได้เหมือนมีชีวิตจริง และมีเสียงบรรยายประกอบ ช่วยดึงดูดความสนใจและกระตุ้นการเรียนรู้เด็กในวัย 3-12 ปี เทียบกับหนังสือนิทานแบบเดิมๆ ที่มีเพียงตัวหนังสือและภาพประกอบ 2 มิติเท่านั้น ขณะที่ BMW สร้างภาพจำลองขั้นตอนการประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ด้วยเทคโนโลยี AR พร้อมระบุเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละขั้นตอน เพื่อใช้เป็นสื่อในการฝึกอบรมพนักงาน ซึ่งช่วยให้พนักงานเรียนรู้ได้รวดเร็ว และยังมีส่วนช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงาน
  • อำนวยความสะดวกการเดินทาง อาทิ Urban Engines พัฒนาแอพพลิเคชั่นนำทาง โดยนำเทคโนโลยี AR มาต่อยอดการใช้ประโยชน์จาก Google Maps ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ใช้ถนนค้นหาเส้นทางและวางแผนการเดินทางให้ถึงจุดหมายได้อย่างเหมาะสมแล้ว ยังช่วยประเมินความหนาแน่นของจำนวนรถยนต์เป็นรูป 3 มิติ ซ้อนทับบนเส้นทางไปพร้อมกัน ขณะที่ GeoTravel เป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวที่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นดังกล่าวเมื่อใช้กล้องของ Smartphone หรือ Tablet ส่องไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่ตนไปถึงจะปรากฏข้อมูลสำคัญของสถานที่ท่องเที่ยวนั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวค้นหาข้อมูลประกอบการเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวกยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการไทย พบว่ามีการนำเทคโนโลยี AR มาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจแล้วเช่นกัน อาทิ Tarad.com (ผู้ให้บริการ E-Commerce รายใหญ่ของไทย) ใช้เทคโนโลยี AR ช่วยลูกค้าค้นหาตำแหน่งที่ตั้งร้านจำหน่ายสินค้าและระยะทางระหว่างลูกค้ากับที่ตั้งร้านขณะที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่าง บมจ.แสนสิริ นำเทคโนโลยี AR มาอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าใช้ค้นหาข้อมูลโครงการก่อสร้างของบริษัทที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับลูกค้า พร้อมระบุข้อเสนอส่วนลดราคา รวมถึงร้านค้าสำคัญๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้ลูกค้าใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ทั้งนี้ ด้วยประโยชน์ของเทคโนโลยี AR ที่นำมาประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ตลอดจนประสบการณ์ของผู้ประกอบการต่างชาติและผู้ประกอบการไทยที่นำเทคโนโลยี AR มาใช้แล้วเกิดประโยชน์เชิงธุรกิจ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สนใจนำเทคโนโลยี AR มาใช้ อาจศึกษาตัวอย่างจากธุรกิจที่ยกมาข้างต้น และนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตนอย่างเหมาะสม คาดว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรงในปัจจุบัน

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนเมษายน 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ