นับตั้งแต่สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมา รัฐบาลเมียนมาได้เร่งปฏิรูปแผนพัฒนาประเทศในหลายด้าน โดยเฉพาะแผนพัฒนาบริการสุขภาพ สะท้อนได้จากการจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขในปีงบประมาณ 2559/2560 ที่เพิ่มขึ้นราว 10 เท่าจากปีงบประมาณ 2553/2554 ในยุคของอดีตประธานาธิบดี เต็ง เส่ง โดยรัฐบาลเมียนมาตั้งเป้ายกระดับให้การบริการสุขภาพของประเทศเป็นระบบ Universal Health Coverage (UHC) หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะทำให้ชาวเมียนมาทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมียนมายังกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ อย่างเมืองย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ ขณะที่ประชากรเมียนมาราว 70% อาศัยอยู่ในเขตชนบท รัฐบาลเมียนมาจึงประกาศใช้ National Health Plan 2017-2021 มุ่งเน้นขยายการบริการสุขภาพไปยังพื้นที่ชนบท 280 เมือง และกำหนดให้แต่ละเมืองมีโรงพยาบาลขนาด 25 เตียง รวมถึงอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลเบื้องต้น รถพยาบาล และเภสัชภัณฑ์ การพัฒนาบริการสุขภาพของรัฐบาลเมียนมาจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเมียนมาให้ดีขึ้น
การปฏิรูประบบสาธารณสุขของเมียนมาดังกล่าวถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการรุกเข้าไปในธุรกิจบริการสุขภาพในเมียนมาใน 2 ช่องทาง ได้แก่
1. การส่งออกเภสัชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์เพื่อรองรับการขยายบริการสุขภาพไปยังพื้นที่ชนบท การเร่งพัฒนาบริการสุขภาพของรัฐบาลเมียนมาจะทำให้อุปสงค์ในสินค้าเภสัชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ในเมียนมาขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งสินค้าดังกล่าวของไทยเป็นที่ต้องการในตลาดเมียนมาเป็นอย่างมาก สะท้อนจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกเภสัชภัณฑ์ของไทยไปเมียนมาขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 12% ต่อปี โดยในปี 2559 เมียนมาเป็นตลาดส่งออกเภสัชภัณฑ์สำคัญอันดับสองของไทย รองจากเวียดนาม
2. การร่วมลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเพื่อรองรับการขยายตัวของชาวเมียนมาที่มีกำลังซื้อสูง Boston Consulting Group (BCG) บริษัทที่ปรึกษาของสหรัฐฯ คาดว่าผู้บริโภค ระดับกลางในเมียนมาจะเพิ่มขึ้นราว 1 เท่า จากปี 2556 เป็น 10.3 ล้านคนภายในปี 2563 ส่งผลให้ความต้องการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นตาม ปัจจุบันชาวเมียนมาที่มีกำลังซื้อสูงมักเดินทางออกไปใช้บริการทางการแพทย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์และไทย ประกอบกับรัฐบาลเมียนมาพยายามดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจบริการสุขภาพมากขึ้น โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นในธุรกิจบริการสุขภาพได้สูงสุดถึง 80% ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยเข้าไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการเมียนมาแล้วหลายราย อาทิ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ และเครือโรงพยาบาลธนบุรี นอกจากนี้ ธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล อาทิ ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ บริการประกันสุขภาพ และบริการเทคโนโลยีสารสนเทศเกี่ยวกับระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ล้วนมีโอกาสขยายตัวดีในเมียนมาเช่นกันล่าสุดบริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพเข้าไปลงทุนกิจการห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์ขั้นสูง อาทิ โรคภูมิแพ้ และโรคไข้เลือดออก
ประเทศไทยได้รับการยอมรับด้านมาตรฐานการให้บริการสุขภาพในระดับสากล จนเป็นผู้ให้บริการสุขภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค ขณะที่ชาวเมียนมามีมุมมองที่ดีต่อสินค้าและบริการด้านสุขภาพของไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปเจาะตลาดธุรกิจบริการสุขภาพในเมียนมาที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโต ด้วยการเข้าไปสร้างพันธมิตรกับผู้ประกอบการท้องถิ่น และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน Supply Chain ของตลาดบริการสุขภาพในเมียนมา
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2560--