เรื่องเล่าระหว่างทาง: สินค้าไทยในเมียนมา…ความเหมือนที่แตกต่าง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 26, 2017 15:19 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีโอกาสไปสำรวจเส้นทางการค้าการลงทุนในประเทศเมียนมา ตั้งแต่ด่านชายแดนแม่สอด จังหวัดตากของไทย ผ่านเส้นทางการค้าสำคัญระหว่างไทย-เมียนมา ที่เริ่มจากเมืองเมียวดี เมืองชายแดนติดประเทศไทย ผ่านเมืองมะละแหม่ง จนถึงเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของเมียนมา นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเดินทางต่อไปยังเมืองมัณฑะเลย์ เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวบริเวณตอนกลางของประเทศ ตลอดเส้นทางพบเห็นสินค้าไทยหลากหลายประเภทได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดเมียนมา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว สอดคล้องกับข้อมูลภาพรวมการนำเข้าของเมียนมาที่พบว่าสินค้าไทยเป็นสินค้านำเข้าอันดับต้นๆ ของเมียนมา มีสัดส่วนกว่า 20% ของมูลค่านำเข้ารวมทั้งหมดของเมียนมา อย่างไรก็ตาม สังเกตเห็นว่าพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคสินค้าไทยของชาวเมียนมามีความแตกต่างกับพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยหลายประการ จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการกำหนดกลยุทธ์การค้าการลงทุนในเมียนมาต่อไป

สินค้าไทยที่สร้างความประหลาดใจจนอดใจไม่ไหวที่จะต้องนำมาเล่าให้ฟัง คือ “เครื่องดื่มชูกำลัง” ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าเครื่องดื่มประเภทนี้ในไทย ผู้ดื่มส่วนใหญ่นิยมดื่มเพื่อใช้กระตุ้นร่างกายให้สดชื่นและให้มีเรี่ยวแรงทำงาน แต่ในเมียนมาเครื่องดื่มประเภทเดียวกันนี้กลับได้รับความนิยมในลักษณะเครื่องดื่มดับกระหาย รวมถึงดื่มคู่กับการรับประทานอาหารเช่นเดียวกับที่ชาวไทยนิยมดื่มน้ำอัดลมหรือชาเขียวพร้อมไปกับมื้ออาหาร ยิ่งไปกว่านั้นภาพลักษณ์ของสินค้ากลุ่มนี้ในตลาดเมียนมาก็ค่อนข้างจะเป็นสินค้าแฟชั่น เรียกง่ายๆ ว่าใครไม่ดื่มอาจดูเชยหรือไม่ทันสมัยในสายตาเพื่อนฝูง

สินค้าไทยถัดมาที่อยากพูดถึง คือ “ปิ่นโต” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดเมียนมา เนื่องจากชาวเมียนมากว่า 90% นิยมนำอาหารจากบ้านไปรับประทานที่ทำงานหรือโรงเรียน โดยมักนิยมใส่อาหารในปิ่นโต ซึ่งจากการสังเกตและสอบถามชาวเมียนมา พบว่าปิ่นโตแบรนด์ไทยได้รับความนิยมสูงและมีภาพลักษณ์เป็นสินค้า Hi-end ชาวเมียนมาที่ใช้ปิ่นโตแบรนด์ไทย จะรู้สึกถึงความมีระดับ และที่น่าสนใจคือ ขณะถือปิ่นโตชาวเมียนมามักหันโลโก้ปิ่นโตแบรนด์ไทยออกให้เห็นกันทั่ว เหมือนเช่นที่นิยมหันโลโก้กระเป๋าหรือเครื่องประดับนั่นเอง พฤติกรรมการใช้ปิ่นโตของชาวเมียนมาจึงแตกต่างจากชาวไทยที่ผู้ใช้มักเป็นผู้สูงอายุหรือมักใช้ในงานพิธีทางศาสนา เช่น การถวายอาหารแก่พระสงฆ์ การทำบุญในวาระต่างๆ

สินค้าไทยอีกประเภทหนึ่งที่สังเกตเห็นถึงความแตกต่างในการใช้งานระหว่างไทยกับเมียนมา คือ “ทิชชูเปียก” ซึ่งในประเทศไทยมักใช้ทำความสะอาดมือหรือใช้กับเด็กทารกเป็นหลัก แต่ในเมียนมาสินค้าประเภทนี้ถือเป็นของสำคัญที่บริษัททัวร์และไกด์ท้องถิ่นต้องมีติดรถไว้เสมอ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะเพื่อใช้เช็ดเท้า หลังจากออกจากวัดและสถานที่สำคัญทางศาสนา เนื่องจากผู้ที่จะเข้าไปในวัดในเมียนมาต้องถอดรองเท้าทุกคน ซึ่งโปรแกรมทัวร์ส่วนใหญ่ในเมียนมาก็จะเน้นเข้าชมและสักการะวัดหรือโบราณสถานต่างๆ ทำให้ทิชชูเปียกเป็นสินค้าสำคัญในธุรกิจท่องเที่ยวของเมียนมา

นอกจากสินค้าไทยที่ยกตัวอย่างไปแล้วข้างต้น ยังมีพฤติกรรมหรือวัฒนธรรมการอุปโภคบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวันของชาวเมียนมาที่แตกต่างจากไทย เช่น ชาวเมียนมาไม่นิยมดื่มเครื่องดื่มใส่น้ำแข็ง ส่วนหนึ่งอาจมาจากปัญหาระบบไฟฟ้าที่ยังไม่เพียงพอ ทำให้การผลิตและเก็บรักษาน้ำแข็งทำได้ยาก หรือแม้แต่การเคี้ยวหมากที่นิยมแพร่หลายในทุกวัย ไม่ว่าจะวัยหนุ่มสาวหรือผู้สูงอายุ ซึ่งชาวเมียนมาเชื่อว่าการเคี้ยวหมากจะช่วยทำให้ลมหายใจสดชื่น วัฒนธรรมนี้อาจเป็นอุปสรรคในการทำตลาดของสินค้ากลุ่มลูกอม/หมากฝรั่งดับกลิ่นปาก อีกสถานการณ์หนึ่งที่สังเกตได้คือ การบีบแตรรถยนต์ในเมียนมาถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งรู้สึกทึ่งเป็นอย่างยิ่ง โดยหากผู้ขับขี่ยวดยานต้องการขอทางก็จะบีบแตร 2 ครั้ง ผู้ที่จะให้ทางก็จะบีบแตรอีก 2 ครั้ง เพื่บอกว่ารับทราบและพร้อมที่จะให้ทาง เมื่อให้ทางแล้ว ผู้ขับที่ได้ทางก็จะบีบแตรอีก 2 ครั้ง เป็นการขอบคุณ ทำให้ตลอดทั้งวันบนท้องถนน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ จะได้ยินเสียงแตรรถยนต์ตลอด ท่านผู้อ่านที่ไปเยือนเมียนมาคงต้องลองสังเกตดู

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะสะท้อนให้เห็นว่าการทำตลาดสินค้าไทยในต่างประเทศ ผู้ประกอบการควรต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมผู้บริโภคให้ถ่องแท้ เพราะแม้เป็นสินค้าชนิดเดียวกันกับในประเทศไทย แต่หากไปจำหน่ายในต่างประเทศ ก็อาจมีการอุปโภคบริโภคหรือใช้งานแตกต่างกันไปตามพฤติกรรม วัฒนธรรม และความเชื่อ หากเราเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างถูกต้อง ย่อมช่วยให้สามารถพัฒนาและนำสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ จนกลายเป็นสินค้าที่นั่งอยู่ในใจของผู้บริโภคต่างแดนได้ไม่ยากนัก

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ