เรื่องเล่าระหว่างทาง: ตามรอยเส้นทางการค้าจากแม่สอดถึงย่างกุ้ง (ตอนที่ 1)

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 30, 2017 13:52 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ตามที่ทราบกันดีว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-เมียนมากว่า 80% อยู่ในรูปของการค้าชายแดน โดยเฉพาะด่านแม่สอด จังหวัดตาก ที่นับเป็นประตูการค้าที่สำคัญที่สุดระหว่างไทย-เมียนมา สะท้อนได้จากในปี 2559 มีมูลค่าส่งออกผ่านด่านนี้ถึง 80,000 ล้านบาท คิดเป็น 60% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดจากไทยไปเมียนมา จึงเป็นที่น่าสนใจว่าเส้นทางการค้าจากแม่สอดที่จะต่อไปยัง เมืองสำคัญอื่นๆ ของเมียนมา โดยเฉพาะจุดหมายปลายทางที่จะไปเมืองย่างกุ้งมีลักษณะและความสำคัญอย่างไร ตลอดจนมีจุดเด่นอะไรที่จะช่วยขยายการค้าการลงทุนแก่ผู้ประกอบการ ดังนั้น บทความนี้จะพาไปสำรวจเส้นทางดังกล่าว ด้วยการนั่งรถตู้จากด่านชายแดนแม่สอดข้ามไปยังจุดจอดเปลี่ยนรถบริเวณชายแดนเมียนมา เพื่อเปลี่ยนเป็นรถบัสขนาดเล็กของเมียนมา ก่อนจะเดินทางต่อไปยังถนนสายเมืองเมียวดี-เมืองผาอัน-เมืองมะละแหม่งไปจนถึงเมืองย่างกุ้ง ระยะทางราว 450 กิโลเมตร

เริ่มต้นการเดินทางที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ฝั่งเมียนมา เพื่อยื่นหนังสือเดินทางและตรวจลงตราวีซา(Visa) ก่อนที่จะเข้าเขตพื้นที่เมียนมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งใช้เวลารอพิธีการต่างๆ อยู่ราวครึ่งชั่วโมง จึงมีโอกาสได้เห็นรถกระบะและรถบรรทุกจากฝั่งไทยวิ่งขนสินค้าข้ามไปยังเมียนมาค่อนข้างหนาตาพอสมควร โดยสินค้าส่วนใหญ่มีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลไม้หลากหลายชนิด รวมถึงเครื่องดื่มต่างๆ จำนวนมาก สอดคล้องกับสถิติการส่งออกของไทยไปเมียนมาที่เครื่องดื่มเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 มีสัดส่วนเกือบ 10% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดจากไทยไปเมียนมา ทั้งนี้ รถบรรทุกของไทยจะวิ่งเข้าไปสุดทางที่เขตการค้าเมียวดี (Myawaddy Trade Zone) ซึ่งเป็นจุดตรวจสอบสินค้าก่อนจะกระจายสินค้าไปเมืองหลักของเมียนมา โดยรถบรรทุกของไทยจะต้องขนถ่ายสินค้าต่อให้รถบรรทุกของเมียนมาที่จุดนี้ ซึ่งอยู่ห่างชายแดนเมียนมาราว 16 กิโลเมตร ถัดมาในบริเวณใกล้เคียงกันเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมเมียวดี (Myawaddy Industrial Zone) เป็นที่น่าสังเกตว่ามีโรงงานตั้งอยู่เพียงไม่กี่แห่ง ส่วนหนึ่งอาจมาจากข้อจำกัดด้านแรงงาน เพราะชาวเมียนมาในเมืองเมียวดีส่วนใหญ่มักข้ามมาทำงานฝั่งไทย เพื่อรับค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่า (ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของเมียนมาอยู่ที่วันละ 3,600 จ๊าต หรือราว 100 บาทเท่านั้น) อย่างไรก็ดี บริเวณชายแดนแม่สอด-เมียวดีน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจโลจิสติกส์ เนื่องจากเป็นจุดกระจายสินค้าสำคัญระหว่างไทย-เมียนมา

จากนั้นได้มุ่งหน้าสู่เมืองผาอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง ในช่วงแรกใช้ถนนสายเมียวดี-กอกาเร็กเป็นระยะทางราว 45 กิโลเมตร โดยรัฐบาลไทยเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณและการก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งนับได้ว่าเป็นถนนที่ดีที่สุดเส้นหนึ่งในเมียนมา รวมทั้งเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกสำคัญที่เชื่อมจากไทยไปถึงเมืองชั้นในของเมียนมา เส้นทางสายนี้ได้ช่วยร่นระยะเวลาเดินทางจากราว 3-4 ชั่วโมง เหลือเพียงชั่วโมงกว่าๆ เนื่องจากเส้นทางสายเก่าเป็นทางขึ้นเขาแคบและคดเคี้ยว และยังต้องใช้การเดินรถทางเดียวสลับกันแบบวันคู่-วันคี่(รถไม่สามารถสวนทางกันได้) ดังนั้น ถนนสายใหม่เส้นนี้นับได้ว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-เมียนมาขยายตัวได้อีกมหาศาล

หลังจากสิ้นสุดถนนสายเมียวดี-กอกาเร็ก ได้เดินทางต่อไปบนถนนกอกาเร็ก-ผาอันที่แม้มีระยะทางเพียง 90 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลานานถึงเกือบ 6 ชั่วโมง กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางที่เมืองผาอัน ซึ่งเป็นเพราะเหตุผลใดนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ