คอลัมน์พิเศษ: สัมมนา “เงินบาทแข็งค่า…ธุรกิจจะต้านทานได้แค่ไหน”

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 3, 2017 14:28 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

EXIM BANK จัดสัมมนา “เงินบาทแข็งค่า…ธุรกิจจะต้านทานได้แค่ไหน” เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองเกี่ยวกับผลกระทบของเงินบาทแข็งค่าต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย

ดร.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในปัจจุบันอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ขยายตัวชัดเจนอยู่ที่ 3.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.2% โดยมีปัจจัยการขยายตัว คือ การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป การใช้จ่ายภาครัฐช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง และการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2560 จะมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้นตามการส่งออกเป็นสำคัญ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์การเติบโตของการส่งออกไทยในปีนี้อยู่ที่ 4.1% ขณะที่ยังคงมีความท้าทายของการส่งออก คือ ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นโยบายการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น มาตรฐานสินค้า สิ่งแวดล้อม การตอบสนองความต้องการสินค้าในรูปแบบใหม่ของผู้บริโภค เช่นสินค้าที่ตอบสนองสังคมผู้สูงอายุ การค้าในยุคดิจิทัล/ออนไลน์ เทคโนโลยี และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ที่ผ่านมา บทบาทของค่าเงินไม่ได้มีผลต่อมูลค่าการส่งออกมากนัก โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่กำลังซื้อของประเทศคู่ค้า และการยกระดับโครงสร้างการผลิต หากพิจารณามูลค่าการส่งออกในปี 2548-2552 พบว่าในขณะนั้นเงินบาทแข็งค่า แต่การส่งออกยังไปได้ดี เพราะเศรษฐกิจโลกช่วงนั้นมีการเติบโตที่ดี เปรียบเทียบกับปี 2556-2558 เงินบาทอ่อนค่า แต่การส่งออกไม่ได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขการส่งออกช่วงปี 2548 เป็นต้นมา จะเห็นได้ชัดว่าการส่งออกไทยไม่ได้กระเตื้องขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลข GDP ของประเทศคู่ค้า สะท้อนให้เห็นว่าประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อ แต่การส่งออกไทยไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร ซึ่งต้องย้อนกลับมามองที่ตัวสินค้า ดังนั้น ประเทศไทยควรเน้นเรื่องเทคโนโลยีและการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อพัฒนาสินค้าให้เป็นที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน โดยมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอก คือ นโยบายการเงิน และนโยบายการเมืองของประเทศต่างๆ รวมถึงปัจจัยภายใน คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ซึ่งมีส่วนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป เงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวน โดยเฉพาะจากปัจจัยต่างประเทศ คือ การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ราคาน้ำมันที่ผันผวน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (เฮดจิ้ง) โดยการใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่นForward Contract การใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการรับและชำระเงิน การ Netting รายรับหรือรายจ่าย FX กับคู่ค้าเดียวกันหรือคู่ค้าหลายรายและการเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit: FCD) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการผันผวนของค่าเงิน

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. กระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้ว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากพิจารณาในกรอบระยะเวลาที่ยาวขึ้น ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป พบว่า ปัจจุบันเงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากนัก เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่เคยไปถึงระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าที่สำคัญ จะเห็นว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจาก 97.2 ในปี 2552 เป็น 110.3 ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทสามารถสะท้อน 2 สิ่ง ประการแรก คือ ความเข้มแข็งของผู้ประกอบการผ่านดุลบัญชีเดินสะพัด หากไทยสามารถผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของทั่วโลก เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นตามธรรมชาติ และประการที่สอง คือ เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าประเทศ หากเงินบาทแข็งค่ามีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศ แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ อาจส่งผลเชิงลบต่อธุรกิจ ซึ่งการบริหารความเสี่ยงของค่าเงินสามารถช่วยได้แค่เพียงระยะสั้นเท่านั้น สิ่งที่ควรทำมากที่สุด คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้สินค้าสามารถขายในต่างประเทศได้ทุกสถานการณ์

นายศักดิ์ชัย วิจัยธรรมฤทธิ์ กรรมการ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีการนำเข้าและส่งออกใกล้เคียงกัน เปรียบสเมือนการทำ Natural Hedge ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบเลย กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่นำเข้าสินค้าบางส่วนมาประกอบเพื่อส่งออก อาจมีผลกระทบบ้างเล็กน้อย กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มที่ส่งออกเพียงอย่างเดียว โดยใช้วัตถุดิบการผลิตภายในประเทศ ซึ่งจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เช่น การส่งออกข้าว

ปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากยังขาดความรู้ด้านการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความรู้ในการบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องการ คือ เงินทุนและข้อมูลสำหรับการส่งออกไปประเทศต่างๆ

นายบุญกิต จิตรงามปลั่ง ประธานกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ส.อ.ท. และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบนสัน จิวเวลรี่ จำกัด กล่าวว่า ผู้ประกอบการไม่ควรมุ่งเน้นการทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน สิ่งที่ปลอดภัยที่สุด คือ การป้องกันความเสี่ยงในปริมาณเดียวกับการทำธุรกรรมซื้อขาย โดยแนะนำว่าควรทำ Netting Hedge ก่อน หากไม่เพียงพอจึงใช้ Forward/Future ในภายหลัง

ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่รุนแรงที่สุดในการทำธุรกิจ คือ การที่ลูกค้าต่างประเทศไม่ชำระเงิน ดังนั้น ผู้ประกอบการควรทำประกันการส่งออกกับ EXIM BANK ด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าอย่างน้อยจะได้รับการชำระเงินค่าสินค้า

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ