Share โลกเศรษฐกิจ: พลิกโฉมสู่ระบบภาษี GST…หนุนอินเดียก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตชั้นนำของโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 3, 2017 14:36 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี Narendra Modi เข้าดำรงตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม 2557 อินเดียมีการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วยการชูนโยบาย Make in India ที่มุ่งดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้เข้าไปตั้งฐานการผลิตในอินเดียเพื่อยกระดับภาคการผลิตและเพิ่มสัดส่วน GDP ของภาคอุตสาหกรรมเป็น 25% ของ GDP รวมภายในปี 2565 จาก 17% ของ GDP รวมในปัจจุบัน ส่งผลให้ในปี 2558 FDI หลั่งไหลเข้ามาในอินเดียเพิ่มขึ้นเกือบ 30% จากปี 2557 อย่างไรก็ตาม อินเดียยังมีปัญหาด้านการจัดเก็บภาษีที่มีความซ้ำซ้อนระหว่างรัฐ ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญที่เป็น อุปสรรคในการเข้ามาทำการค้าการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนได้จากอันดับด้านการจ่ายภาษี (Paying Taxes) ในรายงาน Ease of Doing Business 2017 ของ World Bank อินเดียอยู่อันดับ 172 ค่อนข้างรั้งท้ายจากการจัดอันดับทั้งหมด 190 ประเทศ รัฐบาลอินเดียจึงมีแผนนำระบบภาษี GST (Goods and Services Tax) มาใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 เพื่อช่วยลดความซ้ำซ้อนของการจัดเก็บภาษี ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า ระบบดังกล่าวจะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตต่อเนื่องจนแตะระดับ 8% ภายในปี 2564

ในช่วงก่อนที่จะมีการปฏิรูประบบภาษี การซื้อขายระหว่างรัฐทั้ง 29 รัฐในอินเดียมีการเรียกเก็บภาษีหลากหลายประเภท อาทิ ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเข้ารัฐ (Entry Tax) ภาษีขายระหว่างรัฐ (Central Sale Tax) และภาษีผ่านแดน (Octroi Tax) ซึ่งสร้างความสับสนให้กับนักลงทุนในอินเดียเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้มีภาระค่าขนส่งในระดับสูงจากการที่นักลงทุนจำเป็นต้องเลือกใช้เส้นทางขนส่งบางเส้นทางที่ไม่มีประสิทธิภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีระหว่างรัฐในอัตราสูง การปฏิรูประบบภาษีครั้งนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีทั้งประเทศให้เป็นอัตราเดียวกัน (One Nation, One Tax) ในสินค้ากว่า 500 รายการและยังเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ลดลงในหลายกลุ่มสินค้า ซึ่งรวมถึงสินค้านำเข้าบางประเภทด้วย

การปฏิรูประบบภาษีของอินเดียจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปอินเดียในหลายกลุ่มสินค้า ที่ชัดเจนได้แก่ สินค้าประเภทวัตถุดิบ อาทิ เม็ดพลาสติก ส่วนประกอบเครื่องจักรกล และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะได้อานิสงส์จากภาษีนำเข้าที่ลดลง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าวัตถุดิบของไทยไปอินเดียซึ่งมีสัดส่วนกว่า 40% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไปอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น สินค้า อุปโภคบริโภค อาทิ ธัญพืช นม และเครื่องปรุงรส ที่จะได้รับการยกเว้นหรือเรียกเก็บภาษีในอัตราที่ไม่สูงนัก ล่าสุด TCI บริษัทวิจัยด้านการขนส่งของอินเดียคาดว่า ระบบ GST จะทำให้ราคาสินค้าและบริการในอินเดียลดลงเฉลี่ยราว 10% ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคในอินเดียซึ่งกว่า 30% เป็นผู้บริโภคระดับกลางที่มีกำลังซื้อตัดสินใจบริโภคสินค้าเพิ่มขึ้น จึงนับเป็นโอกาสที่ไทยจะขยายตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในอินเดียได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การปฏิรูประบบภาษีของอินเดียยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในอินเดีย ท่ามกลางนโยบาย Make in India ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกให้หลั่งไหลเข้าไปในอินเดียมากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้อินเดียก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (Global Manufacturing Hub)ในอีกไม่ช้า

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ