จากตอนที่แล้วที่กำลังมุ่งหน้าสู่เมืองผาอันโดยใช้ถนนสายเมียวดี-กอกาเร็ก ระยะทางราว 45 กิโลเมตร ซึ่งเป็นถนนที่ดีที่สุดเส้นหนึ่งในเมียนมา หลังสิ้นสุดถนนสายนี้ก็เข้าสู่ถนนลูกรังผสมหินบดที่พื้นถนนขรุขระตลอดทาง ดังนั้น การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางนี้จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการบรรจุสินค้าให้ดี เนื่องจากมีโอกาสที่สินค้าจะเสียหายได้ง่าย นอกจากนี้ ถนนมีขนาดเล็กเพียง 1 ช่องจราจรที่ต้องขับรถสวนทางกัน รถโดยสารจึงไม่สามารถทำความเร็วได้มากนัก เฉลี่ยอยู่ที่ราว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ส่งผลให้การเดินทางไปยังเมืองผาอันต้องใช้เวลากว่าครึ่งวันทีเดียว นอกจากนี้ ตลอดเส้นทางเมียวดี-ผาอัน-มะละแหม่ง-ย่างกุ้ง สังเกตว่ามีด่านเก็บค่าผ่านทางเป็นจำนวนมาก นับได้เกือบ 20 แห่ง ซึ่งรัฐบาลเมียนมาให้สัมปทานภาคเอกชนในการสร้างและดำเนินการเก็บค่าผ่านทาง ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งผ่านเส้นทางสายนี้ค่อนข้างสูง แต่ผู้ประกอบการไทยบางส่วนก็นิยมขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางนี้เนื่องจากช่วยร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากแม่สอดไปถึงย่างกุ้งได้ภายใน 3 วัน ซึ่งรวดเร็วกว่าการขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือย่างกุ้งซึ่งใช้เวลานานกว่า 10 วัน
ในที่สุดก็เดินทางมาถึงเมืองผาอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยงในช่วงบ่าย เพื่อสำรวจนิคมอุตสาหกรรมผาอัน ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายกอกาเร็ก-ผาอัน-มะละแหม่ง โดยทางนิคมฯ ได้จัดสรรพื้นที่ลงทุนภายในเขตอุตสาหกรรมเป็น 4 โซนตามประเภทนักลงทุน ได้แก่ โซน 1 สำหรับนักลงทุนต่างชาติ โซน 2 สำหรับนักลงทุนในรัฐกะเหรี่ยง โซน 3 สำหรับนักลงทุนทั่วไปในเมียนมา และโซน 4 สำหรับผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะ
จุดเด่นของนิคมอุตสาหกรรมผาอัน คือ ค่อนข้างมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคมากกว่าเขตอุตสาหกรรมเมียวดี ขณะที่อยู่ห่างจากชายแดนไทย-เมียนมาไม่มากนัก ประกอบกับค่าเช่าที่ดินยังมีราคาถูก และมีแรงงานในพื้นที่จำนวนมาก นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งของเมืองผาอันยังเหมาะที่จะเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังพื้นที่ทางตอนใต้ของเมียนมาอีกด้วย ดังนั้น หากนักธุรกิจไทยสนใจจะเข้าไปตั้งโรงงานในเมียนมา ก็นับได้ว่านิคมฯ ผาอันเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ปัจจุบันมีนักลงทุนเข้าไปตั้งโรงงานแล้วจำนวน 14 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบา อาทิ โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์และโรงงานพลาสติก เป็นต้น ขณะที่โรงงานอีก 20 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและยังเหลือพื้นที่ว่างอีกราว 40% ก่อนออกเดินทางต่อ มีโอกาสได้แวะชมโรงงานตัดเย็บชุดชั้นใน ซึ่งมีชาวเมียนมาเป็นเจ้าของ โดยโรงงานแห่งนี้รับจ้างผลิตให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยเป็นหลัก ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยสนใจจะเข้าไปลงทุนในเมียนมา การจับมือกับนักลงทุนท้องถิ่นก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีไม่น้อย
ในวันเดียวกันทีมงานได้เดินทางต่อไปยังเมืองมะละแหม่ง เมืองหลวงของรัฐมอญ และเป็นเมืองใหญ่อันดับต้นๆ ของเมียนมา โดยสมัยที่เมียนมาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เมืองมะละแหม่งเป็นเมืองท่าสำคัญในการเชื่อมต่อกับเมืองมะริด ทวาย ตะนาวศรี สำหรับขนส่งสินค้าและกำลังทหารไปเมืองย่างกุ้ง สะท้อนให้เห็นว่าทำเลที่ตั้งของเมืองมะละแหม่งยังคงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งสินค้าทางเรือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในโอกาสนี้ทีมวิจัยธุรกิจ EXIM BANK ได้เข้าประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับสมาชิกหอการค้าและอุตสาหกรรมของรัฐมอญ (Mon State Chamber of Commerce and Industry : MSCCI) ทั้งนี้ CCI นับเป็นแหล่งรวมนักธุรกิจในพื้นที่ของแต่ละรัฐ/มณฑล จึงนับเป็นประตูบานแรกสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเริ่มทำธุรกิจในเมียนมาด้วยการเข้าไปทำความรู้จักกับ CCI ในพื้นที่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และต่อยอดการดำเนินธุรกิจในเมียนมาต่อไป ทั้งนี้ ในที่ประชุมฯ แจ้งให้ทราบว่านิคมอุตสาหกรรมมะละแหม่งแห่งใหม่อยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่และดำเนินการจัดสรรให้เป็นสัดส่วนต่างจากนิคมฯ เก่าที่มีความแออัดและมีปัญหาด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจนิคมฯ โดยรอบ เห็นได้ชัดว่านิคมฯ มะละแหม่งแห่งใหม่ มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคมากที่สุดเมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมผาอัน และเขตอุตสาหกรรมเมียวดี จึงเหมาะกับการเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ สินค้าประมงและเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา เป็นต้น รวมถึงการเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมียนมา ปัจจุบันมีบริษัทไทยเข้าไปลงทุนในรัฐมอญหลากหลายธุรกิจ อาทิ ยางพาราแปรรูป โรงงานปูนซีเมนต์ เป็นต้น
ในตอนต่อไปผู้อ่านจะได้เห็นบรรยากาศของเมืองย่างกุ้ง เมืองเศรษฐกิจอันดับ 1 ของเมียนมาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับวิถีการใช้ชีวิตของชาวเมียนมาที่มีความเป็นเมืองมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนกรกฎาคม 2560--