Disruptive Technology หรือกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการผลิตสินค้า จนเกิดสินค้าและบริการใหม่ที่ส่งผลให้ตลาดของสินค้าและบริการที่ยังใช้เทคโนโลยีเดิมๆ หดตัวลง จนอาจถึงขั้นต้องหายไปจากตลาด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน อาทิ เทคโนโลยีกล้องถ่ายรูปดิจิทัลที่เข้ามาแทนที่กล้องถ่ายรูปแบบเดิมที่ใช้ฟิล์ม ทำให้ Kodak ซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตฟิล์มรายใหญ่ของโลกต้องปิดกิจการ และเทคโนโลยี Smartphone ที่ทันสมัยตอบสนองการใช้งานของผู้บริโภคยุคใหม่ได้หลากหลายของ Apple และ Samsung ส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายโทรศัพท์มือถือของ Nokia ให้ลดลงจนขาดทุนในที่สุด แนวโน้มดังกล่าวทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัว หันมาคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและรักษาไว้ซึ่งขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวล้ำและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ขับขี่ได้มากขึ้น จนเป็นที่คาดว่าจะก่อให้เกิด Disruptive Technology ในตลาดรถยนต์ในไม่ช้า สำหรับเทคโนโลยีรถยนต์ล้ำสมัยแห่งอนาคตที่น่าสนใจ มีดังนี้
- รถยนต์ไฟฟ้า พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดการนำกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้เป็นพลังงานในการขับเคลื่อนแทนน้ำมัน แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้ รถยนต์ HEV (Hybrid Electric Vehicle) คือ รถยนต์ที่ใช้น้ำมันร่วมกับกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน จึงช่วยประหยัดน้ำมันเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลัก รถยนต์ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) คือ รถยนต์ที่พัฒนาต่อยอดมาจากรถยนต์ HEV ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันร่วมกับกระแสไฟฟ้า มีจุดเด่นเหนือรถยนต์ HEV ที่สามารถประจุไฟฟ้า (Charge) จากภายนอกเข้าสู่แบตเตอรี่ในรถยนต์ได้ รถยนต์ BEV (Battery Electric Vehicle) คือ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยกระแสไฟฟ้าเท่านั้นและสามารถประจุไฟฟ้าจากภายนอกได้ และรถยนต์ FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) คือ รถยนต์ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนเครื่องยนต์ ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 4 ประเภทในเชิงพาณิชย์แล้ว
- รถยนต์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต คือ รถยนต์ที่สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานของระบบต่างๆ ในรถยนต์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จึงมีส่วนช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมการเดินรถได้ง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้น อาทิ ระบบแผนที่นำทาง (Navigator) ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ช่วยให้ผู้ขับขี่ค้นหาเส้นทางและตรวจสอบสภาพการจราจรในขณะนั้นได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยสร้างความบันเทิงและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้แก่ผู้ขับขี่ได้อีกด้วย อาทิ ระบบ Wi-Fi หรือ Bluetooth ในรถยนต์ที่เชื่อมต่อกับ Smartphone ที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน (Application) ต่างๆ ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกเพลง สั่งซื้อสินค้า จองโรงแรม หรือจองตั๋วภาพยนตร์ผ่านคอนโซลหน้ารถยนต์ได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้ BI Intelligence (บริษัทวิจัยธุรกิจที่มีชื่อเสียงของโลก) คาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 35% ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2559-2564 จนพุ่งแตะระดับ 94 ล้านคัน หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 82% ของยอดจำหน่ายรถยนต์โลกในปี 2564
- รถยนต์ไร้คนขับ เป็นการรวมเทคโนโลยีรถยนต์เข้ากับเทคโนโลยีการสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ล้ำสมัยสำหรับติดตั้งในรถยนต์ เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยให้ผู้ขับขี่ควบคุมรถยนต์ได้ง่ายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับมีหลายระดับ ตั้งแต่รถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยการทำงานอัตโนมัติเฉพาะบางหน้าที่ อาทิ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ ระบบช่วยถอยจอดอัตโนมัติ ก่อนจะพัฒนาไปสู่รถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อช่วยการทำงานอัตโนมัติโดยผสานการทำงานหลายหน้าที่เข้าด้วยกัน อาทิ ระบบควบคุมความเร็วและระบบควบคุมช่องทางการวิ่ง และขั้นสูงสุดคือ รถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบที่สามารถตัดสินใจบังคับรถยนต์แทนผู้ขับขี่ได้ตลอดเส้นทาง ช่วยแก้ปัญหาผู้ขับขี่ที่มีสมรรถนะไม่พร้อมขับขี่หรือไม่สามารถบังคับรถยนต์เองได้ ปัจจุบันสนามบิน Heathrow ในสหราชอาณาจักรได้ใช้รถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบ Ultra Vehicle ขนส่งผู้โดยสารภายในสนามบินโดยบรรทุกผู้โดยสารได้ราว 4-6 คน พร้อมสัมภาระ ขณะที่หลายบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบรถยนต์ไร้คนขับ อาทิ Waymo อยู่ระหว่างการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับบนถนนจริง nuTonomy ทดสอบระบบรถแท็กซี่ไร้คนขับในสิงคโปร์ในช่วงปลายปี 2559 และตั้งเป้าจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 2561 และ Oxbotica ทดสอบระบบรถยนต์สาธารณะไร้คนขับในกรุงลอนดอน เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2562
- รถยนต์บินได้ ในอดีตรถยนต์ที่บินได้อาจเป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น แต่เนื่องจากปัจจุบันเมืองใหญ่ของโลกหลายแห่งกำลังเผชิญปัญหาการจราจรบนถนนที่ติดขัดคับคั่งจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง โดยเฉพาะการติดต่อธุรกิจ จึงกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์บินได้ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ล่าสุด Airbus Group SE ร่วมกับ Italdesign Giugiaro S.p.A. อยู่ระหว่างพัฒนารถยนต์บินได้ ชื่อ Pop.Up ซึ่งขับเคลื่อนได้เองโดยอัตโนมัติและสามารถเดินทางบนอากาศเมื่อติดตั้งใบพัดที่ด้านบนของรถยนต์ นอกจากนี้ โตโยต้าอยู่ระหว่างพัฒนารถยนต์สามล้อบินได้ขนาดเล็กที่สุดในโลก คาดว่าจะนำมาใช้ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในปี 2563
สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย หลังจากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (อาทิ รถยนต์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า)เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะได้รับการสนับสนุน ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวด้านการลงทุนที่สำคัญ ดังนี้
บจก. โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ HEV กำลังการผลิต ปีละ 7 หมื่นคัน และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าปีละ 7 หมื่นชิ้น คาดว่าจะเริ่มผลิตในปี 2561
FOMM Corporation (ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น) เตรียมขยายการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย กำลังการผลิตปีละ 5,000 คัน
การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรถยนต์ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น การติดตามข่าวสาร ตลอดจนการแสวงหาความรู้จากสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยด้านยานยนต์เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการวางแผนปรับการผลิตให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม คาดว่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันและรั้งตำแหน่งการเป็นฐานผลิตและส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนสำคัญของโลกต่อไป
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2560--