ธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบออนไลน์ที่แพร่หลายมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นภาพผู้บริโภคในยุคนี้หันมาจับจ่ายซื้อสินค้าไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า นาฬิกา หรือแม้แต่เครื่องประดับ ผ่านโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์พกพากันมากขึ้น แทนที่จะไปหาซื้อตามห้างสรรพสินค้าซึ่งเป็นรูปแบบของการค้าปลีกแบบเดิมที่เราคุ้นชินกัน สะท้อนได้จากผลสำรวจของ Deloitte บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจชั้นนำระบุว่า ในปี 2558 ยอดจำหน่ายสินค้าเฉพาะในช่องทางออนไลน์ของร้านค้าปลีกชั้นนำทั่วโลกเติบโตถึง 18.3% มากกว่าการขยายตัวของยอดจำหน่ายโดยรวมถึง 4 เท่า ทั้งนี้ พบว่าท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีกแบบออนไลน์ ผู้นำในธุรกิจอย่าง Amazon.com และ Alibaba.com ต่างช่วงชิงกันนำกลยุทธ์ต่างๆ ซึ่งมักผนวกด้วยเทคโนโลยีมาต่อยอดและพัฒนาบริการด้านค้าปลีกของตน เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าในยุคดิจิทัลให้ได้มากที่สุด
กลยุทธ์ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ของโลก
- การควบรวมกับธุรกิจออนไลน์อื่น ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อาทิ Alibaba ลงทุนซื้อกิจการ Lazada Group ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ รายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว การลงทุนดังกล่าวช่วยให้ Alibaba สามารถเข้าถึงฐานลูกค้า สินค้าแบรนด์ดัง ข้อมูลการวิจัยตลาด ตลอดจนระบบต่างๆ ทั้งด้านคลังสินค้าและโลจิสติกส์ที่ Lazada ได้พัฒนาขึ้นมาในกลุ่มประเทศอาเซียน
- การนำหุ่นยนต์มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เทคโนโลยีหุ่นยนต์เริ่มเข้ามามีบทบาทในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ ดังเห็นได้จาก Amazon ลงทุนซื้อบริษัท Kiva Systems ผู้พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับขนสินค้าในคลังสินค้า และได้นำหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า “Amazon Robotics” มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับศูนย์กระจายสินค้า โดยหุ่นยนต์จะทำหน้าที่ช่วยยกชั้นสินค้ามายังพื้นที่บรรจุสินค้าที่มีพนักงานรออยู่ ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเวลาและต้นทุน ขณะที่ Alibaba ให้เงินทุนสนับสนุนบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ Greek+ ซึ่งเป็น Startup ท้องถิ่นของจีน และนำหุ่นยนต์มาใช้ในคลังสินค้าของ Tmall.com ซึ่งเป็นบริษัทลูก โดยคลังสินค้าดังกล่าวมีการใช้หุ่นยนต์ถึง 70% ทำหน้าที่ขนย้ายสินค้าไปให้พนักงานบรรจุและจัดส่ง เมื่อทำงานเสร็จก็จะกลับมาประจำที่เพื่อรอรับคำสั่งใหม่ผ่าน Wifi โดยหุ่นยนต์จะสื่อสารกันด้วยระบบเซ็นเซอร์ ทำให้ไม่มีการเคลื่อนที่มาชนกัน อีกทั้งยังเคลื่อนที่ไปยังสถานีชาร์จไฟฟ้าได้โดยอัตโนมัติเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมด
- การนำนวัตกรรมมาต่อยอดพัฒนาด้านบริการ ล่าสุด Amazon ได้พัฒนา Amazon Go ซึ่งเป็นร้านค้าที่ลูกค้าสามารถบริหารจัดการการจับจ่ายซื้อสินค้าได้ด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ โดยไม่ต้องเสียเวลาเข้าคิวจ่ายเงินอีกต่อไป และเมื่อลูกค้าออกจากร้านไม่นานระบบจะตัดเงินผ่านบัญชีของ Amazon ที่มีข้อมูลของลูกค้าหรือผู้ใช้บริการอยู่ และส่งใบเสร็จรับเงินกลับมาที่ลูกค้า นอกจากนี้ Amazon ยังได้ต่อยอดปัญญาประดิษฐ์และพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีด้านเสียง โดยมี Amazon Alexa ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำงานร่วมกับฮาร์ดแวร์ อาทิ Amazon Echo ซึ่งเป็นลำโพงอัจฉริยะขนาดเล็กที่ควบคุมอุปกรณ์ภายในบ้านด้วยคำสั่งเสียง ขณะที่ Alibaba ออกผลิตภัณฑ์ Tmall Genie ซึ่งเป็นลำโพงอัจฉริยะที่สามารถสั่งสินค้าจาก Tmall ด้วยเสียงได้เช่นเดียวกับ Amazon Echo แต่ปัจจุบันสามารถใช้งานด้วยคำสั่งเสียงภาษาจีนกลางเท่านั้นและมีจำหน่ายเฉพาะในจีน นอกจากนี้ eBay ยังร่วมมือกับห้างสรรพสินค้า Mayer นำเทคโนโลยีเสมือนจริงหรือ Virtual Reality (VR) ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถชม เลือกซื้อ และจ่ายชำระค่าสินค้าจากร้านค้าที่จำลองขึ้นมาได้
- การขยายธุรกิจออฟไลน์ (Online to Offline : O2O) หรือการหันมามีหน้าร้านเป็นของตนเองควบคู่กับการทำธุรกิจออนไลน์เริ่มพบเห็นมากขึ้นทั้งในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ชั้นนำ รวมถึงแบรนด์ดังต่างๆ ส่วนหนึ่งเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่อยากมีโอกาสลองสินค้าและบริการก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ รวมทั้งตอบโจทย์ของผู้ค้าปลีกออนไลน์เองที่อยากมีช่องทางในการให้บริการรับส่งและ
- เน้นความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า การจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็วถึงมือผู้บริโภคถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจค้าปลีกยุคใหม่ อาทิ Amazon มีบริการจัดส่งสินค้าภายใน 1 ชั่วโมงในสหรัฐฯ ให้กับสมาชิกแบบ Prime (สมาชิกรายปีที่จะได้รับบริการพิเศษ เช่น บริการจัดส่งที่รวดเร็ว) และให้บริการจัดส่งสินค้าภายใน 1-2 ชั่วโมงในสิงคโปร์ จากเดิมที่ใช้เวลา 1-3 วัน นอกจากนี้ Amazon ยังมีแผนใช้โดรน(Drone) จัดส่งสินค้าภายใน 30 นาทีหรือน้อยกว่านั้น และปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและทดสอบการใช้โดรนเพื่อให้มีความปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมายทั่วโลก Alibaba มีแผนจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าในจีนภายใน 1 วัน และปัจจุบันอยู่ระหว่างทดลองใช้โดรนในการจัดส่งสินค้าเฉพาะลูกค้าในพื้นที่เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกว่างโจว ซึ่งสามารถจัดส่งภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง โดยพัสดุที่จัดส่งต้องมีน้ำหนักไม่เกิน 340 กรัม
ทั้งนี้ ด้วยวิสัยทัศน์ ตลอดจนการเรียนรู้และพัฒนาด้านนวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่ง เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ชั้นนำของโลกสามารถตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมการเลือกซื้อของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง จึงน่าจะเป็นตัวอย่างและประสบการณ์ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกของไทยซึ่งปัจจุบันได้เริ่มให้ความสำคัญและเตรียมปรับรูปแบบไปสู่ธุรกิจออนไลน์มากขึ้น
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2560--