Share โลกเศรษฐกิจ: พลิกมุมมองเวียดนาม จากคู่แข่งเป็นคู่ค้าสำคัญ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 30, 2017 13:48 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

จากมูลค่าส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกปี 2560 ที่ขยายตัว 8.9% หากพิจารณาในรายละเอียด มีสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาผู้เขียนเป็นอย่างมาก คือ มูลค่าส่งออกของไทยไปเวียดนาม จากที่ปัจจุบันเวียดนามได้ก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 6 ของไทย ตามหลังเพียงแค่ตลาดส่งออกหลักเดิมอย่างจีน สหรัฐญี่ปุ่น EU และฮ่องกง และกลายมาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในอาเซียน ซึ่งหากย้อนหลังกลับไปเมื่อ 5 ปีก่อนในปี 2555 เวียดนามขณะนั้นยังเป็นเพียงตลาดส่งออกอันดับ 10 ของไทยและเป็นอันดับ 4 ในอาเซียน ตามหลังทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

เป็นที่ทราบกันดีว่า เวียดนามเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ที่ระดับ 6-7% ต่อปี ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกโดยรวมของไทยไปเวียดนามตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม และยานยนต์ ที่ได้อานิสงส์จากรายได้และกำลังซื้อของชาวเวียดนามที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่โตเร็วดังกล่าวแล้ว ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายังมีปัจจัยเร่งที่ขับเคลื่อนให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่มาแรงที่สุดในตอนนี้ ได้แก่

การยกระดับภาคการผลิตของเวียดนามสู่การเป็นฐานการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จากปี 2555 ที่เศรษฐกิจเวียดนามยังคงพึ่งพาอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงานเป็นหลัก โดยเฉพาะสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของเวียดนามด้วยสัดส่วนราว 15% ของมูลค่าส่งออกรวม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ประกอบกับจำนวนแรงงานที่มีมาก ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่เนื้อหอมที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยบรรษัทข้ามชาติชื่อดังของโลกหลายแห่งได้ย้ายฐานการผลิตเข้าไปยังเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมี ทำให้โครงสร้างภาคการผลิตและส่งออกของเวียดนามเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2560 สินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ได้กลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของเวียดนามด้วยสัดส่วนกว่า 30% ของมูลค่าส่งออกรวม ขณะที่สินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกและเคมีภัณฑ์ แม้จะยังมีสัดส่วนไม่มาก แต่มูลค่าส่งออกก็เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว ซึ่งจากโครงสร้างการผลิตของเวียดนามที่เปลี่ยนไปดังกล่าวส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปเวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าทุนและวัตถุดิบขั้นกลาง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

การเป็นประตูการค้าสู่ตลาดจีน นับตั้งแต่ประธานาธิบดีเจิ่นด่ายกวางขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของเวียดนามในช่วงต้นปี 2559 ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเวียดนามเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะด้านการค้า ที่จีนและเวียดนามมีนโยบายร่วมกันในการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นถนน คลังสินค้าบริเวณชายแดน รวมถึงด่านชายแดน ไปจนถึงการทำข้อตกลงการค้าชายแดนเวียดนาม-จีน (Vietnam-China Border Trade Agreement) ในปี 2559 เพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าบริเวณชายแดน ซึ่งมาตรการต่างๆ ทำให้เวียดนามกลายเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญจากไทยเข้าสู่ตลาดจีน โดยเฉพาะผลไม้ ที่ได้ประโยชน์จากระยะเวลาขนส่งที่เร็วขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกผลไม้จากไทยไปเวียดนามในปี 2559 และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัวสูงถึง 68% และ 231% ตามลำดับ จนทำให้ผลไม้กลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปเวียดนาม ซึ่งผลไม้ส่วนใหญ่จะถูกส่งออกต่อไปยังจีน

ประจักษ์พยานดังกล่าวทำให้ภาพการมองเวียดนามในฐานะของการเป็น "คู่แข่ง" กำลังพลิกโฉมไปสู่เวียดนามในฐานะ "คู่ค้าสำคัญ"ที่เด่นชัดขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ตั้งแต่สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน ไปจนถึงวัตถุดิบขั้นกลาง เช่นเดียวกับโอกาสด้านการลงทุนที่ยังเปิดกว้าง โดยเฉพาะปัจจุบันเวียดนามกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนโครงสร้างภาคการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงซึ่งหลายอุตสาหกรรมผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือปิโตรเคมี เป็นต้น

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ