บทความในครั้งนี้ จะยังคงหยิบยกตัวอย่างความผิดพลาดของผู้ส่งออกจากการไม่ได้อ่านหรืออ่านเงื่อนไขใน L/C ไม่ละเอียดจนทำให้เกิดความเสียหายตามมามากมายอย่างไม่น่าเชื่อเพียงเพราะส่งมอบสินค้าคลาดเคลื่อนไปจากวันที่กำหนดไว้ใน L/C เรื่องมีอยู่ว่า
นาย A ซึ่งเป็นผู้ส่งออกไทย ได้เจรจาตกลงรายละเอียดการซื้อขายสินค้า ทั้งในเรื่องรูปแบบ จำนวนผลิตราคา และกำหนดวันส่งมอบสินค้ากับคู่ค้าเป็นที่เรียบร้อย จนกระทั่งนาย A ได้รับ L/C จากคู่ค้าก็ดำเนินการผลิตสินค้าตามที่ได้ตกลงกันไว้ทันที โดยมิได้ตรวจทานเงื่อนไข L/C ให้ละเอียด เพราะมั่นใจว่าได้มีการตกลงกับคู่ค้าไว้ชัดเจนแล้วทำให้ไม่เฉลียวใจว่า จะมีความคลาดเคลื่อนของรายละเอียดใน L/C จากที่ตกลงไว้ว่าต้องจัดส่งมอบสินค้าภายในวันที่ 17 กันยายน แต่ใน L/C กลับกำหนดไว้เป็นวันที่ 7 กันยายน ทำให้วันส่งสินค้าที่ระบุใน L/C เร็วกว่าที่ตกลงกับคู่ค้าไว้ 10 วัน เมื่อผู้ส่งออกส่งสินค้าในวันที่ 17 กันยายน และนำเอกสารการส่งออกส่งให้กับธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงินค่าสินค้า ธนาคารผู้เปิด L/C ก็ปฏิเสธการชำระเงิน เพราะผู้ส่งออกส่งมอบสินค้าล่าช้าไปจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน L/C จะเห็นได้ว่า การระบุวันที่ใน L/C ผิดไปเพียงตัวเดียวในครั้งนี้ ทำให้สถานการณ์พลิกผัน เพราะผู้ซื้ออาจกำหนดข้อต่อรองที่ทำให้นาย A ต้องสูญเสียผลประโยชน์บางส่วนหรือทั้งหมด
แน่นอนว่าผลที่จะเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก คือ ธนาคารผู้เปิด L/C ปฏิเสธความรับผิดชอบในการชำระเงินจากการที่ผู้ส่งออกไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใน L/C ลำดับถัดไปธนาคารผู้เปิด L/C จะสอบถามผู้ซื้อว่าจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งน้อยครั้งที่ผู้ส่งออกจะโชคดีเจอผู้ซื้อที่เข้าใจถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและยินยอมชำระค่าสินค้าตามที่ได้ตกลงกันไว้
หากโชคไม่ดีผู้ซื้ออาจใช้จังหวะนี้ต่อรองขอส่วนลดค่าสินค้า ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกสูญเสียรายได้บางส่วนไป สำหรับกรณีเลวร้ายกว่าแต่อาจเกิดขึ้นได้ คือ การที่ผู้ซื้อไม่ยอมเจรจาและไม่ขอรับสินค้าที่ส่งไปถึงท่าเรือแล้ว ทำให้ผู้ส่งออกต้องหาทางจัดการสินค้าของตนที่ค้างอยู่ที่ท่าเรือ และกรณีเลวร้ายที่สุด คือ การที่ผู้ซื้อไม่ยอมชำระเงิน แต่กลับนำสินค้าออกจากท่าเรือไป ซึ่งเท่ากับว่าผู้ขายต้องเสียสินค้าไปเปล่าๆโดยไม่ได้เงิน ส่วนสาเหตุว่าทำไมผู้ซื้อจึงสามารถนำสินค้าออกจากท่าเรือได้โดยที่ยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่ผู้ขายนั้น ขอติดไว้เล่ารายละเอียดในครั้งหน้า
จากกรณีข้างต้นคงเห็นได้ชัดเจนว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ แม้ผู้ส่งออกได้ตกลงอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะกับผู้ซื้อในทุกรายละเอียดแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายการจะได้รับเงินค่าสินค้าหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ส่งออกปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขที่เจรจาไว้กับผู้ซื้อเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้ส่งออกปฏิบัติได้ถูกต้องและครบถ้วนตามเงื่อนไขที่ระบุใน L/C ด้วยหรือไม่ การตรวจทานเงื่อนไขและรายละเอียดใน L/C จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อตรวจพบข้อสงสัยในเงื่อนไขใดก็ควรรีบติดต่อขอเจรจากับผู้ซื้อเพื่อขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใน L/C ก่อนจะเริ่มดำเนินการผลิตและส่งสินค้าออกไป ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี สำหรับลูกค้าของ EXIM BANK สามารถขอคำปรึกษาเรื่อง L/C ได้ที่ฝ่ายธุรกิจธนาคาร โทร. 0 2271 2540, 0 2617 2241
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2560--