เมื่อเอ่ยถึงทวีปแอฟริกา หลายท่านอาจไม่คุ้นเคยนัก และบางท่านอาจยังติดภาพว่า แอฟริกาต้องเป็นสถานที่แห้งแล้ง ประชากรยากจน มีความเป็นอยู่ที่ลำบาก แต่ความจริงแล้วทวีปแอฟริกาถือเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่มีศักยภาพจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและจำนวนประชากรที่สูงถึง 1,216 ล้านคนในปี 2559 หรือมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากทวีปเอเชีย อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่ยังมีอายุน้อย เมื่อประกอบกับเศรษฐกิจของหลายประเทศในทวีปแอฟริกากำลังขยายตัว ทวีปแอฟริกาจึงเป็นที่จับตามองของทั่วโลกว่าจะเป็นอีกภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป
ด้วยทวีปแอฟริกามีจำนวนประชากรมากและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารของทวีปแอฟริกาสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งสินค้าอาหารสำคัญชนิดหนึ่งที่ไทยส่งออกไปทวีปแอฟริกาเป็นจำนวนมากในแต่ละปีก็คือ ข้าว จากสถิติของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (U.S. Department of Agriculture: USDA) ระบุว่า ในปี 2559 แอฟริกานำเข้าข้าวรวม 12.6 ล้านตัน โดยมีไทยเป็นหนึ่งในแหล่งนำเข้าสำคัญ ส่องเทรนด์โลกฉบับนี้จึงจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับตลาดข้าว ตลอดจนพฤติกรรมและความนิยมในการบริโภคข้าวของประเทศที่น่าสนใจในทวีปแอฟริกา ดังนี้
- ไนจีเรีย เป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการค้าน้ำมัน ขณะที่ภาคการเกษตรเติบโตไม่ทันกับจำนวนประชากรในประเทศซึ่งมีมากถึงราว 170 ล้านคน (มากที่สุดในทวีปแอฟริกา) ทำให้ไนจีเรียเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารหลายรายการ โดยเฉพาะข้าวซึ่งไนจีเรียเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน อีกทั้งยังเคยเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทยอยู่หลายปี ทั้งนี้ ในปี 2559 ไนจีเรียมีผลผลิตข้าวรวม 3.5 ล้านตัน ขณะที่มีความต้องการบริโภคข้าวถึง 6 ล้านตัน (คิดเป็นอัตราเฉลี่ย 33.1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) จึงต้องนำเข้าข้าวกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นข้าวนึ่ง โดยมีแหล่งนำเข้าข้าวสำคัญ คือ ไทย อินเดีย และบราซิล
แม้ข้าวจะเป็นหนึ่งในอาหารหลักของชาวไนจีเรีย แต่การผลิตข้าวในไนจีเรียยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค เนื่องจากการเพาะปลูกข้าวยังต้องพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก เพราะไนจีเรียมีพื้นที่ชลประทานไม่ถึง 5% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมด ประกอบกับการขาดเทคโนโลยีการเพาะปลูก และขาดการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ทนทานต่อโรคพืช วัชพืช และแมลงศัตรูพืช ทำให้การเพิ่มผลผลิตเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ข้าวสารที่ผลิตในประเทศยังมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากโรงสีข้าวส่วนใหญ่ในไนจีเรียเป็นโรงสีขนาดเล็กที่ใช้เทคโนโลยีล้าหลัง ทำให้ข้าวที่สีได้มักมีก้อนกรวดและสิ่งสกปรกเจือปน ด้วยเหตุนี้ชาวไนจีเรียที่มีรายได้สูงในเมืองจึงนิยมบริโภคข้าวที่นำเข้า แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าข้าวที่ผลิตในประเทศ เพราะมองว่ามีคุณภาพดีกว่า อีกทั้งข้าวยังเป็นอาหารหลักที่รับประทานได้สะดวกและสามารถนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารได้ง่ายกว่าอาหารหลักชนิดอื่นที่ชาวไนจีเรียบริโภค (อาทิ มันสำปะหลัง มันเทศ ข้าวสาลี กล้าย ข้าวฟ่าง) ส่วนผู้มีรายได้น้อยและประชากรที่อาศัยในชนบทใกล้พื้นที่เพาะปลูกจะเป็นกลุ่มที่บริโภคข้าวที่ผลิตในประเทศ แต่ก็มีประชากรที่มีรายได้น้อยบางส่วนเลือกบริโภคอาหารหลักชนิดอื่นที่มีราคาถูกกว่าแทน
- เบนิน เป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทยในปัจจุบัน ในปี 2559 เบนินมีผลผลิตข้าวรวม 1.3 แสนตัน ขณะที่มีความต้องการบริโภคข้าว 5.6 แสนตัน จึงต้องนำเข้าข้าวเพื่อบริโภคในประเทศกว่า 4 แสนตัน แต่ปรากฏว่าปริมาณนำเข้าข้าวรวมของเบนินในปี 2559 กลับสูงถึงกว่า 1.5 ล้านตัน เพราะการที่เบนินมีพรมแดนติดกับไนจีเรียทำให้เบนินมีบทบาทสำคัญในฐานะช่องทางสำรองในการส่งข้าวไป
สำหรับการบริโภคในประเทศเบนิน ชาวเบนินส่วนใหญ่บริโภคข้าวโพดเป็นอาหารหลัก จึงมีการเพาะปลูกข้าวโพดมากที่สุด ขณะที่การเพาะปลูกข้าวยังมีไม่มากนัก และปริมาณการผลิตแทบไม่เพิ่มตลอดหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปริมาณการบริโภคข้าวของชาวเบนินก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และข้าวก็เข้าไปอยู่ในอาหารจานหลักของชาวเบนินมากขึ้น เนื่องจากข้าวสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้ง่าย ชนิดข้าวที่ชาวเบนินนิยมบริโภค คือ ข้าวหอมและข้าวขาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวที่นำเข้าและมีวางจำหน่ายทั่วไป ส่วนผลผลิตข้าวในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้าวขาว ข้าวกล้อง หรือข้าวนึ่ง ซึ่งเป็นข้าวที่มีรสชาติเฉพาะตัวและมีคุณค่าทางอาหารสูง แต่กลับไม่เป็นที่นิยมเพราะชาวเบนินมองว่าเป็นข้าวคุณภาพต่ำ ข้าวที่เพาะปลูกในเบนินราว 2 ใน 3 จึงถูกจำหน่ายเป็นข้าวเปลือกให้แก่เทรดเดอร์ชาวไนจีเรีย ซึ่งให้ราคาสูงและจ่ายเงินให้เกษตรกรเร็วกว่าการจำหน่ายข้าวเปลือกในเบนินเอง สำหรับข้าวส่วนที่เหลือจะถูกจำหน่ายเพื่อบริโภคในชนบทใกล้ๆ กับแหล่งผลิต
- เซเนกัล เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวอันดับ 8 ของโลก และเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับ 13 ของไทยในปี 2559 เซเนกัลเป็นประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีอัตราการบริโภคข้าวสูงถึง 110 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (เทียบกับไทยที่ 132 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) โดยในปี 2559 เซเนกัลมีความต้องการบริโภคข้าว 1.6 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตข้าวในประเทศมีเพียง 6 แสนตัน จึงต้องนำเข้าข้าวราว 1 ล้านตัน โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ คืออินเดีย ไทย และบราซิล นอกจากนี้ เนื่องจากความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับโรงสีใช้กำลังการผลิตได้ไม่เต็มที่ เพราะมีผลผลิตข้าวไม่เพียงพอ ทำให้ข้าวที่ผลิตในประเทศมีต้นทุนค่อนข้างสูง ชาวเซเนกัลจึงนิยมบริโภคข้าวนำเข้ามากกว่า เพราะมีคุณภาพดีและมีราคาถูกกว่าข้าวในประเทศ
ความต้องการบริโภคข้าวของชาวเซเนกัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นกลางที่หันมาบริโภคข้าวแทนข้าวฟ่างมากขึ้น ชนิดข้าวที่ชาวเซเนกัลนิยมบริโภค คือ ปลายข้าว โดยเฉพาะปลายข้าวหอม ที่นิยมใช้ทำอาหารพื้นเมือง อาทิ Thieboudienne ทั้งนี้ ข้าวที่จำหน่ายในเซเนกัลมักบรรจุถุงขนาด 25 กิโลกรัม หรือ 50 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีข้าวหอมบรรจุถุงขนาด 1 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัมเพื่อให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อไม่มากพอที่จะซื้อข้าวหอมขนาดถุง 50 กิโลกรัม สามารถซื้อข้าวหอมบรรจุถุงขนาดเล็กไปรับประทานในโอกาสพิเศษได้เป็นครั้งคราว
การศึกษาตลาดข้าวในแอฟริกาจึงไม่ใช่แค่การประมาณการส่วนต่างของการผลิตและบริโภคข้าวในแอฟริกา หรือเป็นการมองทั้งทวีปแอฟริกาว่าเป็นตลาดเดียวกันซึ่งจะมีรสนิยมและความต้องการข้าวที่เหมือนๆ กัน แต่ควรทำความเข้าใจวัฒนธรรมการบริโภคข้าวที่ต่างกันของแต่ละประเทศในทวีปแอฟริกาอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้สามารถเจาะตลาดข้าวแอฟริกาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2560--