ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อินเดียได้กลายเป็นตลาดผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยในปี 2559 ตลาดผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของอินเดียมีมูลค่าราว 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 69,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 หรือขยายตัวเฉลี่ยราว 11% ต่อปี ขณะที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดียได้คาดการณ์ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในอินเดียจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 หรือขยายตัวเฉลี่ยราว 62% ต่อปีในอีก 3 ปีข้างหน้า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากเป็นเพราะกำลังซื้อของ ชาวอินเดียที่เพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีแล้ว ยังมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่อินเดียเป็นหนึ่งในศูนย์กลางธุรกิจบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Service Hub) ที่สำคัญของโลก
แม้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หากพิจารณาในภาคการผลิตพบว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดียยังพัฒนาไปได้ไม่มากนัก โดยในปี 2557 อินเดียผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นมูลค่าราว 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 40% ของความต้องการใช้ภายในประเทศเท่านั้น ทำให้อินเดียต้องพึ่งพาการนำเข้าจำนวนมากเพื่อเติมเต็มความต้องการในประเทศ โดยในปี 2559 อินเดียต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นมูลค่ากว่า 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของมูลค่านำเข้ารวม ซึ่งถือเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 3 ของอินเดีย และเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้อินเดียประสบปัญหาขาดดุลการค้าเรื้อรัง
ภายใต้นโยบาย Make In India ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 2557 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาภาคการผลิตในประเทศ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ถูกยกให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายอันดับต้นๆ ที่รัฐบาลอินเดียต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติให้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในอินเดีย เพราะนอกจากจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียและลดการนำเข้าแล้ว ยังช่วยต่อยอดอุตสาหกรรม IT ของอินเดียให้ครอบคลุมตลอดทั้ง ห่วงโซ่อุปทานทั้งในส่วนของภาคบริการด้าน IT ที่อินเดียเชี่ยวชาญอยู่แล้ว และในส่วนของภาคการผลิตสินค้า ด้าน IT เพื่อยกระดับประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้าน IT อย่างครบวงจร ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลอินเดียให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่นักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มที่ อาทิ อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ 100% และยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เป็นต้น
นับตั้งแต่นโยบาย Make in India เริ่มใช้ในปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในอินเดียแล้วคิดเป็นมูลค่าราว 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดีย คาดว่าเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 56,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 ซึ่งจะทำให้อินเดียสามารถผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศจนสามารถส่งออกได้ใน ปี 2563 เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกหลายรายได้เข้าไปลงทุนในอินเดียแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Samsung, Intel, Foxconn และ Huawei เป็นต้น
การเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดียในปัจจุบันถือเป็นโอกาสของไทย ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ในด้านการค้า ปัจจุบันแม้อินเดียไม่ใช่ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของไทย เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ไปอินเดียคิดเป็นสัดส่วนเพียงราว 1% ของมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของไทย แต่พบว่ามูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชนิดของไทยไปอินเดียขยายตัวในระดับสูง อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า วงจรรวม และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยอยู่ใน ห่วงโซ่อุปทานสำคัญของภูมิภาคและของโลก ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดียยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาทำให้ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ขณะที่ในมิติด้านการลงทุน ด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษีที่รัฐบาลอินเดียให้กับนักลงทุนต่างชาติเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการออกไปลงทุนในอินเดียซึ่งกำลังจะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำคัญของโลกในอนาคตอันใกล้
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม 2560--