จากบทความในคอลัมน์ “รู้ทันเกมการค้า” เดือนตุลาคม 2560 เรื่อง “เงื่อนไขใน L/C : พิมพ์วันที่ผิด ชีวิตเปลี่ยน” ที่ได้หยิบยกเหตุการณ์ที่ผู้ส่งออก (นาย A) ทำผิดเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน L/C คือ ส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนดโดยไม่รู้ตัว จนเป็นเหตุให้ธนาคารผู้เปิด L/C ปฏิเสธการชำระเงิน และได้กล่าวจึงกรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว คือ นอกจากธนาคารผู้เปิด L/C จะปฏิเสธการชำระเงินแล้ว ผู้ซื้อที่ไม่ซื่อสัตย์ก็ยังสามารถนำสินค้าออกจากท่าเรือไปได้ โดยที่ยังไม่ชำระเงินค่าสินค้า หลายท่านอาจจะสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร บทความในครั้งนี้จะมาไขปริศนาว่า อะไรคือช่องโหว่ที่ผู้ขายอาจนึกไม่ถึง จนนำไปสู่การสูญเสียทั้งสินค้าและไม่ได้รับเงินค่าสินค้าไปด้วย
ขั้นตอนการส่งออกโดยปกติทั่วไปเมื่อผู้ขายส่งสินค้าลงเรือแล้ว ผู้ขายจะต้องจัดทำและรวบรวมเอกสารทั้งหมดตามเงื่อนไขที่ L/C กำหนดไว้ ซึ่งรวมถึงใบตราส่งสินค้าทางทะเลหรือ Bill of Lading (B/L) ที่เป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในตัวสินค้าและใช้เป็นหลักฐานดำเนินการขอรับสินค้าจากบริษัทผู้รับขนส่งที่ประเทศปลายทาง และเมื่อจัดทำและรวบรวมเอกสารเรียบร้อยแล้ว ผู้ขายจะส่งเอกสารให้ธนาคารของผู้ขายเพื่อให้ส่งเอกสารทั้งหมดไปเรียกเก็บเงินกับธนาคารผู้เปิด L/C ต่อไป หลังจากที่ธนาคารผู้เปิด L/C ได้รับเอกสารแล้วจะทำการตรวจสอบเอกสารว่าถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขของ L/C หรือไม่ หากเอกสารถูกต้องครบถ้วน ธนาคารผู้เปิด L/C จะโอนเงินมาชำระค่าสินค้า แต่หากเอกสารไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน หรือที่เรียกกันว่า เอกสารมี Discrepancy(ies) ธนาคารผู้เปิด L/C จะปฏิเสธการชำระเงิน และท้ายสุดหากผู้ซื้อไม่ยอมรับความไม่ถูกต้อง ความไม่ครบถ้วนนั้น ธนาคารผู้เปิด L/C ก็จะส่งเอกสารทั้งหมดกลับคืนมายังธนาคารของผู้ขายต่อไป
จากกระบวนการซื้อขายสินค้าผ่าน L/C ดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่า ผู้ซื้อไม่น่าจะมีโอกาสนำสินค้าออกไปได้หากยังไม่ชำระเงินค่าสินค้าให้กับธนาคารผู้เปิด L/C เพราะธนาคารผู้เปิด L/C จะส่งมอบเอกสารทั้งหมดรวมทั้ง B/L ต่อเมื่อผู้ซื้อได้ชำระเงินให้แก่ธนาคารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และเรากำลังจะเฉลยปริศนาว่าทำไมผู้ซื้อจึงสามารถนำสินค้าออกจากท่าเรือไปได้
จากเหตุการณ์ที่ผู้ขาย (นาย A) ส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนดจนเป็นเหตุให้ธนาคารผู้เปิด L/C ปฏิเสธการชำระเงินและท้ายสุดก็ส่งเอกสารทั้งหมดกลับคืนมานั้น หากเป็นเหตุการณ์ทั่วไปเมื่อนาย A ได้รับเอกสารกลับคืนมาแล้วจะต้องดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าที่อยู่ที่ท่าเรือปลายทาง เช่น หาผู้ซื้อรายใหม่หรือนำสินค้ากลับคืนมา แต่ในกรณีนี้ผู้ซื้อสามารถนำสินค้าออกไปได้นั้น เป็นเพราะเงื่อนไขใน L/C ที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้มีการตกลงกันไว้ก่อนที่จะมีการเปิด L/C โดยกำหนดให้นาย A จัดส่ง B/L ต้นฉบับ (Original) จำนวน 1 ฉบับให้กับผู้ซื้อโดยตรง ซึ่งผู้ซื้ออาจจะอ้างเหตุผลว่าเพื่อที่จะได้จัดเตรียมเอกสารไว้ในการเดินพิธีการศุลกากร เป็นต้น ดังนั้นในเงื่อนไขของ L/C จึงถูกระบุออกมาตามตัวอย่างข้างล่างนี้
Documents Required:
- 2/3 Set of Clean On Board Ocean Bill of Landing Made Out To The Applicant In Full name and address and Notify Applicant…(B/L ต้นฉบับที่บริษัทเรือออกให้มีจำนวนทั้งสิ้น 3 ฉบับ (Full Set) แต่เงื่อนใขของ L/C ร้องขอให้ส่งไปที่ธนาคารผู้เปิด L/C จำนวน 2 ฉบับ)
- Beneficiary’s Certificate Certifying That 1/3 Set of Clean On Board Ocean Bill of Landing have been sent Directly to The Applicant by courier…(เงื่อนไขใน L/C ระบุให้ผู้ขาย (นาย A) จัดส่ง B/L ต้นฉบับ จำนวน 1 ฉบับ ไปให้กับผู้ซื้อโดยตรง)
นั่นหมายความว่า ใน B/L ตรงช่อง Consignee: จะระบุ ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อ (จากตัวอย่างตรง “Made Out To The Applicant In Full name and address” คือ “กรรมสิทธิในสินค้าเป็นของผู้ซื้อ”) และเมื่อผู้ซื้อได้รับ B/L ต้นฉบับแล้ว ผู้ซื้อก็สามารถที่จะนำ B/L ต้นฉบับจำนวน 1 ฉบับนั้น ไปออกสินค้าได้ทันที (B/L ต้นฉบับ จำนวน 1 ฉบับ สามารถออกสินค้าได้เลย) ขณะที่นาย A ถูกธนาคารผู้เปิด L/C ปฏิเสธการชำระเงินด้วยเหตุที่เอกสารที่ส่งไปเรียกเก็บเงินกับธนาคารผู้เปิด L/C มีข้อผิดพลาด เอกสารไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ส่งผลให้นาย A ไม่ได้รับเงินค่าสินค้า แต่ผู้ซื้อกลับได้รับสินค้าไปเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงในการที่จะถูกปฏิเสธการชำระเงิน เมื่อผู้ขายได้รับ L/C แล้วจึงควรอ่านเงื่อนไขใน L/C อย่างละเอียดก่อนเริ่มผลิตสินค้า หากพบว่าเงื่อนไขใน L/C ไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้หรือผู้ขายไม่สามารถปฏิบัติได้ ขอให้ติดต่อผู้ซื้อเพื่อขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใน L/C (Amendment L/C) และสิ่งที่จะทำให้ผู้ขายปลอดภัยจากการที่ผู้ซื้อจะยังไม่สามารถนำสินค้าออกไปได้หากยังไม่ชำระเงินคือการส่ง B/L ต้นฉบับ (Original) ทั้งหมด 3 ฉบับ (Full Set) ไปให้ธนาคารผู้เปิด L/C สำหรับลูกค้าของ EXIM BANK สามารถปรึกษาข้อข้องใจเรื่อง L/C ได้ที่ฝ่ายธุรกิจธนาคาร โทร. 0 2271 2540, 0 2617 2241
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนธันวาคม 2560--