หลายบทความที่ผ่านมาได้หยิบยกกรณีที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ส่งออกละเลยหรือขาดความระมัดระวังในการตรวจสอบเงื่อนไขของ L/C รวมถึงผู้ส่งออกมือใหม่ที่อาจจะมองข้ามรายละเอียดในเอกสารส่งออกบางจุด จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย สำหรับในครั้งนี้จะขอหยิบยกกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคู่ค้าที่ค้าขายกันมาเนิ่นนานจนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และผู้ส่งออกยอมลดเกราะป้องกันความเสี่ยงลง โดยผู้ส่งออกยินยอมที่จะค้าขายกันแบบ D/A (Document Against Acceptance) ซึ่งการค้าแบบนี้หมายถึง ผู้ส่งออกให้เครดิตเทอมแก่ผู้ซื้อ เช่น ให้เครดิตเทอม 30 วัน 60 วัน 120 วัน หรือ 180 วัน เป็นต้น และในทางปฏิบัติเมื่อธนาคารของผู้ส่งออกส่งเอกสารส่งออก (Shipping Documents) ไปถึงธนาคารของผู้ซื้อ (Collecting Bank) แล้ว ธนาคารของผู้ซื้อจะติดต่อให้ผู้ซื้อมารับรองตั๋วแลกเงินที่มีกำหนดเวลาการชำระเงิน ก่อนที่ธนาคารจะมอบเอกสารส่งออกให้ผู้ซื้อ เพื่อให้ผู้ซื้อนำไปออกสินค้าได้ และเมื่อถึงกำหนดการชำระเงินหากเป็นผู้ซื้อที่ดี ไม่มีปัญหาการชำระเงิน ผู้ซื้อก็จะมาชำระเงินที่ธนาคารของผู้ซื้อ แต่หากผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงิน ธนาคารของผู้ซื้อก็ไม่ต้องรับผิดชอบชำระค่าสินค้าใดๆ แทนผู้ซื้อ เพราะถือว่าเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ธนาคารจะเป็นเพียงตัวกลางในการเรียกเก็บเงินเท่านั้น
ดังกรณีของนายพาณิชย์ (ผู้ส่งออก) มีคู่ค้า (ผู้ซื้อ) ที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง และมีการติดต่อซื้อขายกันมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน การชำระเงินก็ตรงตามกำหนดเวลามาโดยตลอด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกันนายพาณิชย์จึงยอมผ่อนปรนข้อตกลงการชำระเงินกับคู่ค้ารายนี้ด้วยเงื่อนไขการชำระเงินแบบ D/A และให้เทอมการชำระเงินนานถึง 120 วัน นับจากวันที่ผู้ส่งออกนำสินค้าลงเรือ โดยในการซื้อขายดังกล่าวผู้ซื้อขอให้นายพาณิชย์ส่งสินค้ามูลค่ารวม 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการทยอยจัดส่งสินค้าเป็น 4 Lots แบ่งจัดส่งเดือนละครั้ง คิดเป็นมูลค่าสินค้าครั้งละ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนายพาณิชย์ได้ทยอยส่งสินค้าไปทุกๆ ต้นเดือน และเมื่อเอกสารไปถึงธนาคารของผู้ซื้อ (Collecting Bank) ผู้ซื้อได้มาติดต่อธนาคารของผู้ซื้อเพื่อดำเนินการรับรองตั๋วแลกเงินและรับเอกสารการส่งออกเพื่อไปออกสินค้า Lot ที่ 1 ในเดือนที่ 1 , Lot ที่ 2 ในเดือนที่ 2 , Lot ที่ 3 ในเดือนที่ 3 และ Lot ที่ 4 ในเดือนที่ 4 สำหรับในเดือนที่ 4 นี้ นอกจากนายพาณิชย์จะส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อเป็น Lot สุดท้ายแล้วนายพาณิชย์จะต้องได้รับชำระเงินค่าสินค้าสำหรับ Lot ที่ 1 ด้วย
แต่ในกรณีนี้ คู่ค้าของนายพาณิชย์ไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าได้ เนื่องจากประสบปัญหาธุรกิจล้มละลาย ซึ่งปัญหานี้นายพาณิชย์ไม่เคยระแคะระคายมาก่อนเลย ดังนั้น เมื่อคู่ค้าไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าได้ทำให้นายพาณิชย์ต้องสูญเสียทั้งสินค้าและเงินค่าสินค้า ซึ่งสุดท้ายแล้วทำให้ธุรกิจของนายพาณิชย์มีผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับปัญหาดังกล่าว การที่ผู้ขายมั่นใจและเชื่อมั่นในฐานะการเงินที่มั่นคงของคู่ค้ามากเกินไป อาจเป็นจุดเสี่ยงที่นำไปสู่ความสูญเสียอย่างไม่คาดคิด ดังนั้น สิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ส่งออกคือ การหมั่นตรวจเช็คฐานะทางการเงินของคู่ค้าอย่างสม่ำเสมอแม้จะค้าขายกันมานานเพียงใดก็ตาม โดยผู้ส่งออกอาจใช้วิธีการตรวจสอบด้วยการติดต่อธนาคารเพื่อใช้บริการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้ออย่างน้อยปีละครั้ง เปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี เพื่อว่าหากมีโรคร้ายก็จะสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และวางแผนการรักษา อย่างไรก็ตาม หากผู้ส่งออกต้องการทำการค้าขายแบบ D/A ในบางครั้ง เพื่อให้เทอมการชำระเงินที่ผ่อนปรนกับลูกค้าหรือด้วยจุดประสงค์เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำสินค้าไปทำตลาดก่อน ก็สามารถป้องกันความเสี่ยงจากการที่ลูกค้าจะไม่ชำระเงินค่าสินค้าด้วยการทำประกันการส่งออกควบคู่กันไปด้วย เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ผู้ส่งออกคลายกังวลไปได้มากในการทำการค้ากับผู้ซื้อในต่างประเทศ
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมกราคม 2561--